สถาบันอัญมณีฯ เผยผู้ประกอบการท้องถิ่นกว่า 1.2 พันคน จาก 5 จังหวัด แห่เข้าร่วมเวิร์กชอป เรียนรู้ด้านการออกแบบ ทักษะช่าง การทำธุรกิจและการตลาดในยุคดิจิทัล เตรียมคัดผลงานโดดเด่น 21 รายไปพัฒนาต่อยอด ก่อนนำไปจำหน่ายใน Pop-Up Store ที่สถาบัน และนำโชว์งานแฟร์ในและต่างประเทศ
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (จีไอที) เปิดเผยว่า สถาบันอัญมณีฯ ได้ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดเป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ แพร่ ตราด เพชรบุรี และสตูล ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างยั่นยืน เพื่อจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นในด้านด้านอัญมณีศาสตร์ ทักษะเชิงช่าง การออกแบบเครื่องประดับ และความรู้ด้านธุรกิจและการตลาดในยุคดิจิทัล ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ประกอบการและผู้สนใจใน 5 จังหวัดดังกล่าวเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากถึง 1,213 คน
“เราอยากผลักดันให้คนเหล่านี้เป็นผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับรุ่นใหม่ หรือสมาร์ทจิวเวลอร์ ที่ไม่ใช่แค่รับจ้างผลิต แต่ต้องยกระดับเป็นผู้ประกอบการที่มีรูปแบบสินค้าเป็นของตัวเอง มีแบรนด์เป็นของตัวเอง โดยที่ไม่ทิ้งอัตลักษณ์อันโดดเด่นในจังหวัดที่ตนเองอยู่ และต้องเรียนรู้ที่จะนำรูปแบบการค้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์มาใช้ด้วย” นางดวงกมลกล่าว
สำหรับนักออกแบบชื่อดังที่ได้ไปช่วยค้นหาอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ได้แก่ น.ส.วไลพรรณ ชูพันธ์ จากแบรนด์ FLOW นายเอก ทองประเสริฐ จากแบรนด์ EK Thongprasert นายสุรศักดิ์ มณีเสถียรรัตนา จากแบรนด์ Carletta Jewellery นางอริสรา แดงประไพ จากแบรนด์ Arisara และนายจิตต์สิงห์ สมบุญ นักออกแบบ
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้เข้าไปพัฒนาแล้ว สถาบันอัญมณีฯ จะทำการคัดเลือกผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีผลงานโดดเด่นจำวน 21 ราย เพื่อมาพัฒนาต่อด้วยการยกระดับคุณภาพมาตรฐานและรูปแบบการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และจะนำสินค้าไปวางจำหน่ายในพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าที่ผ่านการออกแบบในโครงการที่เรียกว่า TEMP Pop-Up Store by GIT ซึ่งจะเปิดตัวในเดือน ก.ย. 2561 นี้ และจะนำไปโชว์ในงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศด้วย
นางนันทิกา สิริภัทรวณิช จากห้างทองเพชรเจริญ 2 จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณสถาบันอัญมณีฯ ที่ได้จัดกิจกรรมในการพัฒนาผู้ประกอบการ เพราะปัจจุบันรูปแบบตลาดและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก หากยังคงผลิตสินค้าแบบเดิมๆ ก็จะขายได้ยาก และเมื่อได้เรียนรู้ ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจตลาดดีขึ้น สามารถนำความรู้มาพัฒนาสินค้า และเห็นถึงโอกาสในการจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ โดยมั่นใจว่าจะช่วยอนุรักษ์อัญมณีและเครื่องประดับท้องถิ่นให้คงอยู่ได้ต่อไป