xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.แจงข้อมูลไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งเวนคืนส่งมอบพท. เอกชนติงเกณฑ์ตัดสินไม่ชัดเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟท.เปิดเวทีชี้แจงรายละเอียดลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน นักลงทุน 31 ราย รุมถามเงื่อนไข เกณฑ์ให้คะแนนและข้อเสนอเพิ่มเติม เหตุยังไม่ชัดเจน ขณะที่ยังอุบไต๋ ไม่เปิดเผยการรวมกลุ่มร่วมทุนที่ชัดเจน ด้าน“เปรมชัย”โผล่ร่วมฟัง ระบุยังเจรจากับพันธมิตรหลายราย ขณะที่ “วรวุฒิ”ยันรถไฟพร้อมส่งมอบที่มักกะสันและศรีราชาหลังเซ็นสัญญาทันที



นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา” ครั้งที่ 1 วันนี้(23 ก.ค.) ว่า เอกชนทั้ง31 รายที่ซื้อเอกสาร ได้เข้าร่วมซักถามข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุนและข้อมูลโครงการครบ โดยกำหนดลงพื้นที่เพื่อชมสถานที่ก่อสร้าง ในวันที่ 24 และ 26 ก.ค. 2561 และให้ยื่นข้อเสนอวันที่ 12 พ.ย. 2561 เวลา 09.00 - 15.00 น เบื้องต้นคาดว่า น่าจะผู้ยื่นประมูลประมาณ 3-4 กลุ่ม และจะใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอไม่เกิน 4 เดือน หรือสรุปในเดือนก.พ.2562 จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขออนุมัติ และลงนามสัญญาได้ประมาณกลางปี 2562 เปิดให้บริการกลางปี 2567
โดยหลังลงนามสัญญา รฟท.จะส่งมอบพื้นที่แนวเขตทางรถไฟได้ทันที รวมถึงพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา ประมาณ 25 ไร่ และพื้นที่มักกะสัน 100 ไร่ (ตรงข้ามสถานีมักกะสัน แอร์พอร์ตเรลลิงก์) ทันที ส่วนพื้นที่มักกะสันที่เหลืออีก 50 ไร่ จะส่งมอบภายใน 5 ปี ขณะที่จะมีพื้นที่ ที่ต้องเวนคืน บริเวณ จ. ฉะเชิงเทรา ทั้งหมดกว่า 300 ไร่ ซึ่งจะเป็นโรงซ่อมบำรุงและที่ตั้งสถานี (ประมาณ 70 ไร่เศษ)นั้น วงเงินงบประมาณ 3,570.29 ล้านบาท อยู่ระหว่างการออกพรฎ.เวนคืน ซึ่งคาดว่าจะเวนคืนเรียบร้อยในปี 2562 ขณะที่ เอกชนจะต้องจ่ายค่าระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท และค่าที่ดินบางส่วนให้รฟท. ตามเงื่อนไข

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. มูลค่า224,544.36 ล้านบาท โดยกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนวงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ถือเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาทั้ง การพัฒนาที่ดิน,บริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูง,ด้านออกแบบ ,ด้านก่อสร้าง ซึ่งผู้บริหารโครงการจะต้องมีความสามารถในการสร้างความต้องการในการเดินทางเพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสารอีกด้วย
สำหรับการคัดเลือกจะมี ข้อเสนอ 4 ซอง 1.คุณสมบัติ 2.เทคนิค ซึ่งมี 6 หมวดแต่ละหมวดต้องมีคะแนน ไม่ต่ำกว่า 75% และรวมคะแนนทั้งหมดต้องมีไม่น้อยกว่า 80% 3. ด้านการเงิน คัดเลือกผู้ที่ขอรัฐอุดหนุนต่ำที่สุด 4 .ข้อเสนอพิเศษ จะเปิดพิจารณาหรือไม่อยู่ที่การเจรจาต่อรอง
****นักลงทุนยังสงสัยเงื่อนไข เกณฑ์ให้คะแนนและข้อเสนอเพิ่มเติม ยังไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ ภาพรวม เอกชนส่วนใหญ่สอบถามความพร้อมในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ การเปิดพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อเชื่อมเข้าสู่โครงการ รวมถึงเกณฑ์การให้คะแนน กรณีต่างๆ ที่เงื่อนไขไม่ได้เขียนห้าม จะมีการตัดคะแนนได้หรือไม่ เป็นต้น
***”เปรมชัย”โผล่ รับฟังการชี้แจง เผยเจรจากับพันธมิตรหลายราย
ด้านนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร และกรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD กล่าวว่า อยู่ระหว่างเจรจาอย่างเปิดกว้างกับพันธมิตรหลายราย เพื่อเข้าร่วมทุนในการประมูลโครงการ ส่วนนักลงทุนต่างประเทศ เจรจากับทั้งฝรั่งเศสและญี่ปุ่น และยอมรับว่า ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ BTS ด้วย แต่เปิดเผยรายละเอียดไม่ได้
ทั้งนี้ ITD มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง จะหาพันธมิตรเพิ่มเติมด้านระบบรถไฟความเร็วสูง ผู้ออกแบบและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
***”ประชัย”ระบุ TPIพร้อมลงทุนชี้โครงการนี้มีกำไรแน่นอน
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL กล่าวว่า บริษัท มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการ ซึ่งได้มีการเจรจากับพันธมิตรหลายราย เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส จีน รวมทั้งไทย โดยเป็นพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านระบบรถไฟฟ้าและตัวรถ ส่วนทีพีไอ จะรับผิดชอบงานก่อสร้าง และงานโยธา ที่โครงการนี้มีค่าลงทุนวัสดุก่อสร้างกว่า 50% โครงการนี้สัมปทาน 50 ปี ประเมินจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ลงทุนน่าจะมีกำไร
“เราจะเป็นแกนหลัก ถือหุ้นอย่างต่ำ 25% มีความพร้อมทางการเงิน การเจรจาเปิดกว้าง งานโยธาเรามีพันธมิตรหลายราย ส่วนงานระบบรถไฟฟ้าอาจเป็นพาร์ทเนอร์ต่างชาติ แต่ในงานบริหารเดินรถ เราทำเองได้ คาดว่าการเจรจาร่วมทุนจะแล้วเสร็จหลัง ส.ค.นี้”
นายทาคาฟูมิ อูเอดะ ตัวแทนกรรมการ บริษัท ฟูจิดะ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่ามีศักยภาพ ของรัฐบาลไทยที่มีการเชื่อมโยงกับพื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษด้านตะวันออก (EEC) ซึ่งบริษัทฯเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง ซึ่งงานของบริษัทฯที่ญี่ปุ่น เช่น สนามบินโอซาก้า รถไฟชินคันเซ็น ทั้งนี้ ได้มีการเจรจากับพันธมิตร 2-3 รายที่มีความเชี่ยวชาญด้านก่อสร้าง และถือเป็นการร่วมประมูลโครงการแรกของบริษัท หลังจากที่ก่อตั้งฟูจิดะ ไทยแลนด์ มา2 ปี
***กำหนดพาดูพื้นที่ก่อสร้าง 2 วัน
โดย รฟท.จะนำผู้แทนบริษัทเอกชนที่ซื้อเอกสารทั้ง 31 ราย ลงพื้นที่สถานที่ก่อสร้างโครงการฯ โดยในวันที่ 24 ก.ค. 2561 จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ เช่น การก่อสร้างร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต การจัดการพื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อ เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จากนั้นจึงนำชมสถานีมักกะสัน ทั้งจุด Check in บริเวณชานชาลาของ City Line และ Express Line การเชื่อมต่อระบบขนส่งอื่นๆ ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน (Depot) จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อให้เห็นรูปแบบการเดินทางอย่างเป็นระบบ
ส่วนในวันที่ 26 ก.ค. 2561 จะเดินทางจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อดูสถานที่จริงตามแนวเส้นทางและจุดสำคัญต่างๆ ของโครงการฯ ทั้งบริเวณสถานีรถไฟลาดกระบัง สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรีและสถานีบ้านฉาง ตลอดจนแผนการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจและช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพรวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ EEC ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น