xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.-สหภาพ โวยประเคนที่ดินเอื้อกลุ่มทุน-ต่างชาติสร้างรถไฟ ฉะ พ.ร.บ.อีอีซีใหญ่กว่า กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาค ปชช.- สหภาพ โวยสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน พ่วงที่ดิน ล่อใจกลุ่มทุน-ต่างชาติ ซัด พ.ร.บ.อีอีซี ใหญ่กว่า กม.แม่ให้สิทธิพิเศษ ย้ำ ยกที่ดินให้เช่า 99 ปี ขัด รธน. “สาวิทย์” แฉที่รถไฟ หลายหน่วยจ้องฮุบ “ธีระชัย” ชี้ ไม่มีชาติใดยกสิทธิข้างทางให้ ตปท.

วันนี้ (15 ก.ค) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการตรวจสอบภาคประชาชนกับการทุจริตคอร์รัปชัน จัดเสวนา การทุจริตประพฤติมิชอบนโยบายของรัฐในการประมูลรถไฟความเร็วสูง และการจัดสรรที่ดินรถไฟมักกะสัน ผลประโยชน์ชาติประชาชนอยู่ตรงไหน โดยมี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมเสวนา นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ดำเนินรายการ

นายเมธา อ่านแถลงการณ์เรียกร้อง ให้รัฐบาลแก้ไข TOR โครงการรถไฟความเร็วสูง มีเนื้อหาว่า การที่รัฐบาลจัดทำ TOR โครงการรถไฟความเร็วสูง สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา โดยโยงเข้ากับโครงการพัฒนาที่ดินมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นแผนการที่เอื้ออำนวยประโยชน์แก่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ กีดกันนักธุรกิจขนาดย่อม และไม่ทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ผู้ที่เหมาะสมจะพัฒนารถไฟความเร็วสูงมากที่สุด คือ การรถไฟฯ ควรจัดตั้งเป็นบริษัทลูกสำหรับโครงการนี้ การผนวกสองโครงการใหญ่เข้าด้วยกัน เป็นการกีดกันนักธุรกิจรายย่อย TOR ดังกล่าวอาจเข้าข่ายล็อกสเปกเอื้อประโยชน์เฉพาะแก่นายทุนระดับชาติ และผิดกฎหมาย เนื่องจากฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 164 (1)

รัฐบาลประกาศเองว่าจะมีการเลือกตั้งในต้นปีหน้า ดังนั้น จึงควรจะให้รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการประมูลเรื่องดังกล่าว น่าจะโปร่งใสกว่า เพราะจะสามารถตรวจสอบการทุจริตได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ปัจจุบันการตรวจสอบแทบจะทำไม่ได้เลย แถมมีข่าวคราวการทุจริตในโครงการต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดและเพื่อความโปร่งใส ภาคประชาชนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการดำเนินการการประมูลดังกล่าวออกไปจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย กำเนิดสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์หวังให้ที่ดินสองข้างทางเกิดการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน การเอาที่ดินรัชกาลที่ 5 ประทานไว้ให้ แล้วมาทำปู้ยี้ปู้ยำ ไม่ละอายบ้างหรือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ระบุ ผู้ร่วมประมูลจะรู้ผู้ชนะ แพ้ในเดือน พ.ย.นี้ แต่ข้อกำหนดในทีโออาร์ การเชื่อม 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา และผนวกการพัฒนาที่ดิน โรงซ่อมบำรุงรักษาในที่ดินการรถไฟฯย่านมักกะสันไปด้วย รวมทั้งการให้สิทธิในการเช่าที่ดินสองระยะ โดยครั้งแรกให้เช่า 50 ปี และยังขยายต่อได้อีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี ไม่รู้ว่ารัฐบาลใช้หัวอะไรคิด เมื่อไม่นานมานี้ ผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งที่ยื่นซองประมูล ให้สัมภาษณ์ระบุชัดเลยว่า โครงการพัฒนาที่ดินมักกะสันและการเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่ดีกว่าอีอีซี เสียอีก การพัฒนาที่ดินอย่างเดียวไม่เกี่ยวกับการเดินรถสูงถึง 2 แสนล้านบาท ในสัปดาห์หน้าจะไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม และ สตง. ให้ช่วยกันตรวจสอบ ในวันนี้รู้สึกผิดหวังต่อกระบวนการตรวจสอบของรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร ที่มีอำนาจในรัฐบาล กลับปล่อยให้บ้านเมืองเป็นเช่นนี้

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก่อนหน้าเรามีกฎหมายส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว แปลกใจทำไมไม่นำมาใช้กับอีอีซี แต่กลับเขียนกติกาใหม่เอื้อประโยชน์ โดยเฉพาะการให้ต่างชาติเช่าที่ดินยาวนานถึง 99 ปี หลายประเทศการทำโครงการลักษณะนี้ ให้การรถไฟฯเป็นผู้ดำเนินการ หากกลัวการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ค่อยจ้างเอกชนมาร่วม เท่าที่ดู ทีโออาร์ ปรากฏว่า รถไฟจาก ดอนเมือง สุวรรณภูมิ เชื่อมไปยังอู่ตะเภา ให้เอกชนเป็นคนทำ เอาที่ดินมักกะสันแถมไปให้ เพราะกลัวว่าการทำรถไฟจะขาดทุนหรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ คงไม่ถูกต้อง การนำ 2 โครงการมาแปะด้วยกัน คนที่เข้าร่วมประมูลได้คงมีไม่เกิน 5 ราย ที่เป็นนายทุนใหญ่ระดับประเทศ ทีโออาร์ดังกล่าวผิดรัฐธรรมนูญชัดเจน นายสมคิด เร่งให้การประมูลจบก่อน พ.ย. เพื่อให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ในช่วงที่ไม่มีสภา ไม่มีฝ่ายค้าน นอกจากนี้ ทรัพย์สินรถไฟมีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท จะไปเร่งในช่วงไม่มีฝ่ายค้านได้อย่างไร และการวิพากษ์วิจารณ์มีข้อจำกัดได้อย่างไร

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.อีอีซี ยกเว้นภาษีเงินได้ ยกเว้นภาษีเครื่องจักร ยกเว้นภาษีแรงงานบางส่วน รวมไปถึงเรื่องที่ดิน หากจะใช้ที่ตรงไหนไม่ต้องไปขอกรมที่ดิน พ.ร.บ.ฉบับนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ซ้ำยังยกเว้นกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม ผังเมือง แรงงาน ที่ดิน พ.ร.บ.อีอีซี ออกมาในช่วงประชาชนกำลังมึนๆ งงๆ รัชกาลที่ 5 สูญเสียที่ดินฝั่งขวา แม่น้ำโขง พระองค์โทมนัสมาก สุดท้ายก็สู้กัน แต่กฎหมายอีอีซี ไม่ต้องทำศึกสงครามอะไร เราพร้อมยกให้เขาไปเลย ที่ดินย่านมักกะสัน หอมหวานมาก ก่อนหน้าหลายหน่วยงานพยายามจะมาเอาไปทำประโยชน์ แต่สหภาพฯ และ การรถไฟฯ เราไม่ยอม แม้แต่กรมธนารักษ์ที่ต้องการที่ดินดังกล่าว โดยอ้างว่า การรถไฟฯเป็นหนี้กว่าแสนล้านบาท เหตุที่เป็นหนี้ เนื่องจากการรถไฟฯเป็นบริการสาธารณะ ห้ามปรับราคาค่าโดยสาร ไม่เคยปรับขึ้นราคาค่าโดยสารมายาวนาน ทำให้เป็นหนี้สะสมพอกพูนมา

ที่ดินการรถไฟฯย่านมักกะสัน หากเอาไปพัฒนาให้ประชาชน เราไม่ขัดข้อง เข้าใจว่า 149 ไร่ ในส่วนของโรงซ่อม เขาต้องเอาก่อน ภายใน 8 ปี ต้องย้ายออกไป แล้วที่เหลือ เขาค่อยผนวกเอาทีหลัง เอาเรื่องที่ดินการรถไฟฯไปผนวกกับอีอีซี การพัฒนาขนส่งทางรางต้องมองอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่มองเป็นส่วนๆ นอกจากนี้ ที่ดินการรถไฟฯ หลายแห่ง ในต่างจังหวัดบางที่มีเอกชนรายใหญ่ ก็นำไปใช้ประโยชน์ โดยแทบจะไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนให้ภาครัฐ ในมิติอีอีซี ยังมีเรื่องน่าสงสัย ที่พูดไม่ได้เตะตัดขาใคร แต่อยากให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ประชาชน และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะการรถไฟฯเป็นของประชาชน การพัฒนาที่ดินมักกะสัน ไม่ขัดขวาง หากทำให้เกิดประโยชน์กับทุกคน รัฐบาลไม่ควรใจแคบต่อการตั้งคำถามจากประชาชน เรามาร่วมกัน ตรวจสอบ วันไหนไปยื่นหนังสือ จะเชิญพี่น้องรัฐวิสาหกิจไปด้วย เพราะหลายที่มีปัญหา เราไม่ได้ขัดขวางต่อการพัฒนาประเทศ ต่อไปคิดว่าจะจัดเวทีที่ใหญ่กว่านี้ เชิญทุกฝ่ายทั้งคนร่วมประมูล คนตรวจสอบ มาร่วมกันเสวนา มาร่วมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น