ประธานกกพ.ยืนยันกฤษฎีกาตีความแล้วไม่ต้องจับสลากออกแต่พร้อมทบทวนบทบาทหลังรัฐส่งสัญญาณให้พ้นตำแหน่ง แต่วันนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาโดยเร็วๆ นี้จะหารืออีกครั้ง
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เปิดเผยถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงานได้ส่งสัญญานให้กรรมการ กกพ.ชุดปัจจุบันที่มี6คนพิจารณาการดำรงตำแหน่งให้เป็นไปตามกฏหมายหรือพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานปี2550 ว่า ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานม.17 ระบุชัดเจนว่ากรรมการมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปีโดยเมื่อครบ 3 ปีแรกให้จับสลากออกกึ่งหนึ่งซึ่งในชุดของตนดำรงตำแหน่งมาครบ 4 ปีแล้วซึ่งทุกคนตระหนักดีถึงข้อกฏหมายก่อนหน้าที่จะครบวาระ 3 ปีได้ทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าควรจับสลากหรือไม่ซึ่งได้รับคำตอบว่าการจับสลากนั้นได้ถูกดำเนินการตามกฏหมายไปแล้วในกกพ.ชุดแรก
“ เราเข้าใจดีว่าต้องทำตามกฏหมายให้ถูกต้องแต่ด้วยเหตุที่กรรมการชุดนี้มาจากการแต่งตั้งด้วยกฏหมายพิเศษหรือม.44 ดังนั้นเราก็ไม่แน่ใจจึงต้องขอความชัดเจนจากทางกฤษฎีกาซึ่งก็ได้ตีความแล้วว่าตามระเบียบนั้นการจับสลากจะถูกดำเนินการในชุดแรกไปแล้วซึ่งกกพ.ชุดนี้เป็นชุดที่ 3 จึงไม่มีความจำเป็นจับสลากต่ออีก”นายพรเทพกล่าว
ทั้งนี้หลังจากได้รับคำตอบได้ทำหนังสือชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้นแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อมีคำแนะนำจากผู้กำหนดนโยบายบางส่วนที่ให้พิจารณาบทบาทด้วยการลาออกหรือจับสลากออกนั้น กกพ.จะได้นำกลับไปหารือกันอีกครั้งหนึ่งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพราะในข้อเท็จจริงกรรมการชุดปัจจุบันก็ไม่ได้มีการกระทำผิดใดๆ
“ ณ วันนี้เราเองยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ แต่จะขอหารือกันภายในก่อนที่จะสรุปซึ่งขอย้ำว่าที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่และการที่มีคนมาบอกว่าเราเก่งหรือไม่เก่ง หรือภารกิจลุล่วงแล้วนั้นก็แล้วแต่คนจะมอง แต่เรายังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการต่อไปซึ่งยอมรับว่าหากกกพ.ชุดนี้ต้องพ้นตำแหน่งทั้งหมดก็อาจจะกระทบการทำงานได้เช่นกัน”นายพรเทพกล่าว
ปัจจุบันภาคเอกชนมองเรื่องพลังงานเป็นเรื่องธุรกิจเป็นสำคัญบางกลุ่มจึงต้องการให้ได้กำลังการผลิตไฟฟ้ามากและเร็วแต่สำหรับกกพ.แล้วต้องดูให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฏหมายและหากมีกรณีไม่ถูกต้องกกพ.ก็ต้องทำตามกฏหมายจึงเห็นได้ว่ากกพ.จึงมีกรณีการฟ้องร้องจากเอกชนอยู่พอสมควรแต่ไม่ได้มีการขัดแย้งใดๆ เพราะไม่ต้องการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หากเอกชนเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมก็สามารถฟ้องกลับได้