รองนายกฯ แย้มใกล้ได้ใช้กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่แล้ว เผยต่างประเทศขอทำซีรีส์ 5 ตอนฟอร์มยักษ์ เหตุการณ์ช่วยทีมหมูป่า อะคาเดมี จ่อตั้งกรรมการพิจารณาอย่างละเอียด
วันนี้ (20 ก.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) ฉบับใหม่ ว่าจะได้รับการโปรดเกล้าและบังคับใช้ในอีก 1-2 วันนี้ เพราะจะครบกำหนด 90 วันในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ดังนั้น สิ่งที่สงสัยหรือลือกันไปนั้นไม่เป็นความจริง
นายวิษณุยังให้สัมภาษณ์ถึงการกรณีที่ต่างประเทศสนใจถ่ายภาพยนตร์เกี่ยวกับการช่วยเหลือทีมหมูป่า อะคาเดมี ว่าการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ได้พิจารณากรณีที่ต่างประเทศจะเข้ามาถ่ายหนังเกี่ยวกับการช่วยเหลือทีมหมูป่า อะคาเดมีในไทย โดยคณะกรรมการจะพิจารณาอนุญาตจากบทภาพยนตร์ ผลกระทบต่อชื่อเสียงหรือทรัพยากรของประเทศ และในหลายด้าน ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศอย่างน้อย 5 บริษัท สนใจมาถ่ายทำหนังในประเทศไทย แต่ยังไม่เห็นคำขออย่างเป็นทางการ
นายวิษณุกล่าวว่า การสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับ 13 ชีวิตทีมหมูป่าฯ ต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่มีลิขสิทธิ์ ใครจะทำอะไรก็ทำได้ แต่จะยุ่งตรงที่เมื่อจะถ่ายเป็นหนัง ถ้าคุณจะเข้ามาถ่ายทำ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ วันนี้รู้แค่ว่าจะมีการขอมา แต่ยังไม่เห็นมีมาตรงๆ เราจึงหารือกันว่าเรื่องนี้อาจใหญ่เกินกว่าคณะกรรมการระดับชาติดูแล เพราะเวลาเขามา อาจไม่ได้อ้างว่ามาถ่ายหนัง แต่อาจอ้างว่ามาสัมภาษณ์เพื่อเขียนหนังสือ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ จึงคิดว่าจะนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ก.ค.นี้ เพื่อตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเล็กขึ้นมา 1 ชุด ดูแลและคุ้มครองเด็ก หน่วยซีล และเจ้าหน้าที่ที่อาจถูกรบกวนในเวลาถูกสัมภาษณ์ หรือถูกจับเซ็นสัญญา ซึ่งเรากลัวตรงนี้มาก เพราะเมื่อเซ็นสัญญาแล้วคนคนนั้นอาจไม่สามารถไปทำอะไรอย่างอื่นได้ จึงต้องอาศัยผู้ที่รู้กฎหมายเข้าไปช่วย
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนที่มีสื่อต่างประเทศไปสัมภาษณ์ทีมหมูป่าฯ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น เรื่องนี้มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็กและกฎหมายคุ้มครองข่าวสารอยู่แล้ว แต่อาจเป็นความสมัครใจของสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปดูแล ตักเตือนไม่ให้มีการล่วงล้ำเด็ก หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมากนักในเวลานี้ เพราะอยู่ในช่วงของการรักษาสภาพจิตใจ เมื่อถึงเวลาหนึ่งอาจทำได้ ทั้งนี้ การจับเซ็นสัญญารับเงินถือเป็นสิทธิของเด็ก แต่รัฐบาลจะเข้าไปให้คำแนะนำ คล้ายเป็นผู้จัดการ แต่ไม่หวังเอาเปอร์เซ็นต์หรือผลประโยชน์ใดๆ
“เรื่องการถ่ายหนัง เราคุยกันว่าทำไมประเทศไทยไม่สร้างเอง แต่คิดว่าจะมีปัญหาเรื่องทุน ส่วนเทคนิคเราเก่งอยู่แล้ว ก็อยากจะให้คณะกรรมการชุดใหม่นี้ไปดู รวมทั้งให้มีหน้าที่อนุญาตการถ่ายทำ อย่างไรก็ตาม มีต่างชาติติดต่อขอทำภาพยนตร์ซีรีส์ 5 ตอนใหญ่ๆ แล้วเพื่อฉายไปทั่วโลก ซึ่งต้องพิจารณาอย่างละเอียด เช่น จะนำเด็ก หน่วยซีล หมอภาคย์ มาปรากฏตัวด้วยหรือไม่ อย่างนี้ใครดูแลตัวเองได้ก็ไม่เป็นไร แต่ใครที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เช่น เด็กและผู้ปกครอง คงต้องมีที่ปรึกษาเข้าไปแนะนำ ซึ่งเราห่วงหลายเรื่อง ทั้งความเป็นส่วนตัว ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ความมั่นคง ลิขสิทธิ์การจับเด็กเซ็นสัญญา” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงหลังสื่อต่างชาติไปสัมภาษณ์สมาชิกทีมหมูป่าฯ กลัวว่าจะทำให้สื่ออื่นๆ ทำตาม ซึ่งทาง พม.และนายอำเภอต้องเข้าไปดูแล โดยตนได้โทรศัพท์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อกำชับให้ช่วยดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะแม้สื่อไทยจะอยู่ในระเบียบ แต่สื่อต่างชาติกลับไม่ทราบว่ามีข้อห้ามหรือเตือนอะไรบ้าง เขาอาจไม่รู้พิษสงของการกฎหมายคุ้มครองเด็ก เดี๋ยวจะเกิดปัญหา แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่ถ้าผิดสามารถดำเนินคดีต่อต่างชาติได้