กกบ.มีมติเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน IFRS9 ออกไป 1 ปี เริ่มใช้ 1 ม.ค. 63 ส่วนธุรกิจที่มีความพร้อมให้ใช้ได้เลยตามกำหนดเดิม 1 ม.ค. 62 พร้อมมอบ ธปท.-ก.ล.ต.-คปภ.ทำรายละเอียดแนวทางปฏิบัติให้เสร็จใน 1 เดือน ใช้เป็นข้อแนะนำให้ภาคธุรกิจในการเตรียมตัว
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อพิจารณามาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับใหม่ (IFRS9) ว่าที่ประชุมได้มีมติให้เลื่อนการบังคับใช้ IFRS9 ออกไปจากเดิมที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นวันที่ 1 ม.ค. 2563 หรือขยายระยะเวลาออกไป 1 ปี เพื่อให้ภาคธุรกิจที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวได้เตรียมตัวและมีความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐาน แต่ได้เพิ่มทางเลือกให้แก่ธุรกิจที่มีความพร้อมอยู่แล้วให้สามารถใช้มาตรฐานใหม่ได้เลยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562
สำหรับธุรกิจที่มีความพร้อมให้ใช้มาตรฐาน IFRS9 ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ กองทุน เพราะธุรกิจเหล่านี้ได้มีการเตรียมตัวมานานแล้ว แต่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ที่ยังมีความกังวลกันว่าถ้าใช้มาตรฐานการเงินใหม่ จะกระทบต่อการทำธุรกิจและการปล่อยกู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะไม่เริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค. 2562 เหมือนรายอื่นๆ แต่จะเริ่มทดลองใช้ในช่วงเดียวกัน เพื่อเป็นการเตรียมตัว
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ไปจัดทำแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนว่าใครดูแลใคร จะทำอะไรกันบ้าง มีแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ยังไง ให้ทำคำถามคำตอบด้วย เพื่อเป็นรายละเอียดให้กับผู้ที่จะต้องนำ IFRS9 ไปปฏิบัติภายใน 1 เดือน
นางนันทวัลย์กล่าวว่า การนำระบบมาตรฐานทางการเงิน IFRS9 มาใช้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจ และดึงดูดการลงทุน เพราะรายงานทางการเงินของไทยจะมีมาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุน ขณะที่การทำธุรกิจจะมีความโปร่งใส มีมาตรฐานชัดเจน งบการเงินเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจเอง และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตมากขึ้น
ส่วนข้อกังวลของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ยังมีความกังวลว่าการบังคับใช้มาตรฐานทางการเงินใหม่ จะกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ได้ขอให้ กกร.ไปศึกษาว่าจะมีผลกระทบอะไร และจะได้รู้ว่า SMEs ต้องการอะไร เพื่อที่จะได้นำมาใช้ในการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมให้กับ SMEs ต่อไป