“บางจาก” หวนลงทุนธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติเพิ่ม หลังราคาน้ำมันดิบดีดตัวสูงเกิน 65 เหรียญ/บาร์เรล โดยเข้าถือหุ้น 45% ใน OKEA ที่เป็นเจ้าของแหล่งปิโตรเลียม 5 แหล่งในนอร์เวย์ โดยมีการผลิตแล้ว 2 แปลง กำลังผลิต 2 หมื่นบาร์เรล/วัน แย้มอีก 3 แปลงที่เหลืออยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะผลิตได้ในปี2562
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยกรณีที่บริษัทเข้าไปลงทุน 45% ใน OKEA AS (OKEA) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์ วงเงินลงทุน 3.76 พันล้านบาท ว่าบริษัทฯ ได้ตัดสินใจเข้าลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) อีกครั้ง หลังจากราคาน้ำมันดิบยืนเหนือระดับ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ล่าสุดบางจากเข้าไปถือหุ้นใน OKEA ประมาณ 45% ซึ่งดีลนี้จะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.นี้
ทั้งนี้ OKEA มีการผลิตปิโตรเลียมราว 2 หมื่นบาร์เรล/วัน จาก 2 แหล่งปิโตรเลียม ได้แก่ แหล่ง Draugen และแหล่ง Gjoa หากคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบางจากจะอยู่ที่ 9 พันบาร์เรล/วัน โดยต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบของ OKEA ต่ำมากอยู่ที่ 17 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ฐานะการเงินแข็งแรง
ทั้งนี้ OKEA มีแผนจะพัฒนาอีก 3 แหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติมในนอร์เวย์ได้แก่ Ivar Aasen, Yme และ Grevling ซึ่งจะเริ่มทยอยผลิตตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป บางจากคาดว่าจะไม่ต้องใส่เงินเพิ่มเติมอีก เพราะ OKEA มีฐานะการเงินดี และรัฐบาลนอร์เวย์ก็สนับสนุนการลงทุนโดยยกเว้นภาษี 90%
ส่วนแหล่งน้ำมันดิบ Galoc ประเทศฟิลิปปินส์ที่บางจากถือหุ้นในบริษัท Nido Petroleum จำกัด (Nido) คาดว่าใน 2 ปีข้างหน้า ปริมาณปิโตรเลียมในแหล่งดังกล่าวจะหมดลง จากปัจจุบันผลิตอยู่ 2 พันบาร์เรลต่อวัน คาดว่าบางจากจะไม่ใส่เงินลงทุนในการเจาะสำรวจเพิ่มเติม
นายชัยวัฒน์กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนเหมืองแร่ลิเทียมในบริษัท Lithium Americas Corp. (LAC) สัดส่วนหุ้น 16% ว่า เหมืองแร่ลิเทียมที่อาร์เจนตินาคาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์เฟสแรก 25,000 ตัน/ปีในปี 2563 และจะเพิ่มเป็น 50,000 ตัน/ปีในปี 2565 ใช้เงินลงทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เหมืองแร่ลิเทียมที่เนวาดา ในสหรัฐอเมริกาก็มีแผนพัฒนาโดยแบ่งการผลิตเป็น 2 เฟส เฟสแรกผลิต 30,000 ตัน/ปีจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 แล้วเสร็จในช่วงปี 2565-66 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 2 อีก 30,000 ตัน/ปี โดยเงินลงทุนทั้งโครงการในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นผู้ผลิตแร่ลิเทียมรายใหญ่รายหนึ่งของโลกด้วยกำลังผลิต 1.1 แสนตัน/วัน โดยบริษัทมองหาโอกาสลงทุนต่อยอดในการผลิตแบตเตอรี่หากมีเทคโนโลยีและต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม