xs
xsm
sm
md
lg

อีคอมเมิร์ซดันสินค้าข้ามพรมแดนโตพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Priceza
ไพรซ์ซ่า เผยสถานการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซ พบรายการสินค้าข้ามพรมแดนโตพุ่ง หลังยักษ์อีคอมเมิร์ซต่างชาติบุกตลาด คาดครึ่งปีหลังมาร์เกตเพลซแข่งดุ แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว เพิ่มกลยุทธ์สร้างจุดขาย ผนึกพันธมิตรธนาคารต่อยอด Priceza Money อำนวยความสะดวกผู้ซื้อ ติดเครื่องบุกตลาดอินโดนีเซีย หวังชิงเค้ก 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน "Priceza" เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) อันดับหนึ่งของประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลสถิติเชิงลึกของไพรซ์ซ่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ว่า มีผู้เข้าเยี่ยมชมไพรซ์ซ่าผ่านทั้งเว็บไซต์และแอปฯ กว่า 70 ล้านครั้ง ขณะนี้จำนวนสินค้าบนแพลตฟอร์มของไพรซ์ซ่าเติบโตขึ้น 28% จากจำนวน 28 ล้านชิ้น ในช่วงปี 2560 เป็นจำนวน 36 ล้านชิ้นในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนสินค้าเหล่านี้เติบโตขึ้น มาจากการเติบโตของกลุ่มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน หรือ Cross border ทำให้การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมีฐานข้อมูลสินค้าประเภทนี้บนแพลตฟอร์มไพรซ์ซ่า 17 ล้านชิ้น หรือคิดเป็น 47% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด

“ช่วงครึ่งปีหลังมาร์เกตเพลซจะยิ่งมีแนวโน้มแข่งขันกันดุเดือดขึ้น เพราะมาร์เกตเพลซรายใหญ่จากต่างชาติเริ่มบุกตลาดหนักขึ้น ขณะเดียวกัน รายที่เคยพักการทำตลาดในไทยก็หวนคืนสู่ตลาดประเทศไทยอีกครั้ง ยังไม่แน่ว่าอาจมีการทำ Cross border เกิดขึ้นเพิ่มเติมหรือไม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงจำเป็นต้องปรับตัว เพิ่มกลยุทธ์และจุดขายเพื่อรองรับการแข่งขันในช่วงครึ่งปีหลังนี้ รวมถึงการแข่งขันกับสินค้าข้ามพรมแดนจากต่างชาติ” นายธนาวัฒน์กล่าว
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Priceza
จากข้อมูลเชิงลึกของไพรซ์ซ่าครึ่งปีแรกยังพบอีกว่ายอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ยอยู่ที่ 1,702 บาทต่อออเดอร์ ผ่านช่องทางเดสก์ท็อป Mobile Web และแอปพลิเคชัน

นายธนาวัฒน์กล่าวอีกว่า เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งมาร์เกตเพลซ ร้านค้า และผู้บริโภคในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้น ไพรซ์ซ่าจึงได้จับมือพันธมิตรธนาคารชั้นนำ นอกจากไพรซ์ซ่าจะช่วยในเรื่องการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าให้ได้ราคาดีที่สุดแล้ว ไพรซ์ซ่ายังช่วยเรื่องการให้ข้อมูลการชำระเงินผ่านการชอปปิ้งออนไลน์ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกช่องทางการชำระเงินที่คุ้มค่าและได้สิทธิพิเศษสูงสุดด้วย

“ที่ผ่านมาเราได้เปิดตัวบริการ Priceza Money ผ่าน https://money.priceza.com ให้บริการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ด้านการเงินและประกันภัย 3 ด้าน ได้แก่ 1. บริการเปรียบเทียบประกันรถยนต์ มากกว่า 1.6 ล้านแผนประกัน 2. เปรียบเทียบบัตรเครดิต จากสถาบันการเงินชั้นนำมากกว่า 69 ใบ และ 3. เปรียบเทียบสินเชื่อส่วนบุคคล จากสถาบันการเงินชั้นนำ เพราะเรามองเห็น Pain Point ของผู้คนหลายเรื่อง เช่น การทำประกันภัยรถยนต์ดั้งเดิมใช้เวลานาน และ 90% ของคนขับรถจะรู้สึกไม่สบายใจในการขับเมื่อประกันรถยนต์ขาด เราจึงมองหาแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มของเราให้เชื่อมโยงกับโลกฟินเทค เพื่อแก้ไข Pain Point ของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง” นายธนาวัฒน์กล่าว
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Priceza
นายธนาวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับไพรซ์ซ่าเองนั้น นอกจากประเทศไทยแล้ว เป้าหมายหลักประเทศต่อไปที่จะให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ คือประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศอินโดนีเซียจะสูงถึง 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 50% ของมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในภูมิภาค

สำหรับบริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 โดยนายธนาวัฒน์ และกลุ่มเพื่อนสมัยเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวม 3 คน เนื่องจากมองเห็นอนาคตในการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จึงใช้ความรู้ที่เรียนมาพัฒนาเครื่องมือค้นหาสินค้า การบริการเปรียบเทียบข้อมูลและราคาสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ ปัจจุบันเปิดให้บริการทั้งรูปแบบเว็บไซต์ www.priceza.com และแอปพลิเคชันใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานไพรซ์ซ่ากว่า 8 ล้านคนต่อเดือน และมีจำนวนการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์กว่า 12 ล้านครั้งต่อเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น