xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟยุค 4.0 จ่ายค่าตั๋วด้วยคิวอาร์โค้ดได้แล้ว 56 สถานีทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การรถไฟฯ จับมือกสิกรไทย รับชำระค่าตั๋วรถไฟด้วย QR Code ได้แล้ว ที่ 56 สถานีหลักทั่วประเทศ ประเมินผล 3 เดือน ก่อนประสานธนาคารอื่นเพิ่มการให้บริการ คาดช่วงแรกหวังความสะดวกจูงใจให้เปลี่ยนวิธีการจากเงินสดเพื่อลดขั้นตอนและต้นทุนบริหารจัดการอีกด้วย

วันนี้ (5 ก.ค.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวการรับชำระเงินค่าตั๋วรถไฟด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code) ผ่านทางเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ ร่วมสร้าง “สังคมรถไฟยุคใหม่ ไม่ใช้เงินสด” เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการในยุค 4.0

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวว่า การรถไฟฯ นำระบบการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดผ่านเครื่องรับบัตรอัตโนมัติเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการรับชำระค่าตั๋วรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้ใช้บริการ รองรับสังคมไร้เงินสด โดยในช่วงที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยดำเนินการติดตั้งเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ เพื่อรองรับการชำระค่าตั๋วโดยสารด้วยบัตรวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด ซึ่งไม่ใช้เงินสด โดยการรับชำระค่าตั๋วรถไฟด้วยคิวอาร์โค้ด ผู้โดยสาร สแกนผ่าน Mobile Banking บนสมาร์ทโฟนทุกธนาคาร โดยติดตั้งระบบพร้อมใช้งานใน 56 สถานีหลักที่มีผู้โดยสารมาก จำนวน 140 เครื่อง เช่น สถานีกรุงเทพ เชียงใหม่ อุบลราชธานี หนองคาย ชุมทางหาดใหญ่ ชุมพร เป็นต้น โดยสถานีกรุงเทพมีการติดตั้งมากที่สุดจำนวน 14 เครื่อง และประเมินผลประมาณ 3 เดือนหากผลตอบรับดีจะพิจารณาขยายเพิ่มบริการสำหรับธนาคารอื่นๆ ต่อไป และในอนาคตจะมีการทยอยติดตั้งเครื่องรับบัตรอัตโนมัติเพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้บริการของประชาชนที่มาใช้บริการให้ครอบคลุมและทั่วถึง

ทั้งนี้ ได้ประเมินว่ากลุ่มผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ที่มีประมาณ 11 ล้านคน/ปี ช่วงแรกมาใช้คิวอาร์โค้ด 10% (1 ล้านคน) ถือว่ามากแล้ว เพราะระบบดังกล่าวจะใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนซึ่งกลุ่มวัยรุ่นจะใช้เป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้ลูกค้าหลักของรถไฟเป็นกลุ่มสูงอายุ ดังนั้น รูปแบบการชำระเงินนี้หวังในแง่การเพิ่มความสะดวกมากกว่าการกระตุ้นยอดขาย ซึ่งรถไฟฯ จะหารือกับกสิกรไทยในการทำแผนการตลาดเพื่อทำโปรโมชันที่จูงใจต่อไป 
ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารรถไฟทั่วประเทศทั้งชาวไทยและต่างชาติมีประมาณ 2.4 ล้านคนต่อเดือน หรือราว 80,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะหลังการก่อสร้างระบบขนส่งทางรางที่จะแล้วเสร็จในอนาคต ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นรถไฟที่มีความทันสมัยมากขึ้น ในปัจจุบันผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังคงนิยมชำระค่าตั๋วรถไฟด้วยเงินสดกว่าร้อยละ 92 มีเพียง ร้อยละ 6 เท่านั้นที่ชำระด้วยบัตรเครดิต ดังนั้น รูปแบบของรถไฟที่ทันสมัยและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มคุ้นชินกับการชำระเงินด้วย QR Code จึงมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะเป็นบริการที่ตอบรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค 
ด้านนายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้พัฒนาการใช้ QR Code เพื่อชำระค่าตั๋วให้กับระบบขนส่งมวลชนมาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งเครื่องบิน เรือ และรถสาธารณะ ในส่วนของรถไฟก็เป็นระบบขนส่งมวลชนที่อยู่คู่คนไทยมานาน มีเอกลักษณ์สร้างประสบการณ์ในการเดินทางที่ไม่เหมือนใคร จึงมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ทั้งคนไทยที่ใช้รถไฟเพื่อเดินทางในชีวิตประจำวันและเพื่อการท่องเที่ยว รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์การเดินทางด้วยรถไฟ

ความร่วมมือในครั้งนี้รองรับไลฟ์สไตล์ของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป ที่จะช่วยให้ผู้โดยสารรถไฟไทยได้รับความสะดวกรวดเร็ว และช่วยสนับสนุนการสร้างประสบการณ์สังคมไร้เงินสดให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การชำระค่าตั๋วรถไฟด้วยคิวอาร์โค้ดยังช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ และช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้มีการอบรม แนะนำวิธีการใช้ระบบชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด ผ่านเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ ให้กับเจ้าหน้าประจำสถานีเรียบร้อยแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกที่ช่องจำหน่ายตั๋วของสถานี โดยผู้ใช้บริการสามารถร่วมสร้าง “สังคมรถไฟยุคใหม่ ไม่ใช้เงินสด” และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่ง หรือศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเว็บไซต์ www.railway.co.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น