xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” จับมือ “เกษตรฯ-อุตฯ-มท.” เร่งทำแผนดูแลพืชเกษตรหลัก 6 ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” จับมือ 3 กระทรวงหลักทำแผนดูแลพืชเกษตรหลัก 6 ตัวแบบครบวงจรตามคำสั่ง “บิ๊กตู่” เตรียมสำรวจปริมาณผลผลิตให้ชัด ประเมินทิศทางความต้องการของตลาด ก่อนสรุปเป็นแผนปฏิบัติมอบให้มหาดไทยนำไปชี้แจงและทำความเข้าใจเกษตรกร

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นัดประชุมหารือเรื่องข้อมูลการผลิต ความต้องการใช้สินค้าเกษตร เพื่อจัดทำแผนการผลิตและการตลาดพืชเกษตรสำคัญอย่างครบวงจร จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ทำการสำรวจแนวโน้มการผลิตสินค้าเกษตรหลักทั้ง 6 ตัวอีกครั้งให้ชัดเจนว่าจะมีผลผลิตจำนวนเท่าใด โดยเฉพาะผลิตล่วงหน้าของปี 2561/62 ด้วย

“ขอให้สำรวจผลผลิตข้าวและมันสำปะหลังก่อน เพราะตอนนี้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกแล้ว ต้องดูว่าผลผลิตใกล้เคียงกับที่คาดไว้หรือไม่ เพราะดิน ฟ้า อากาศ เปลี่ยน มีผลต่อผลผลิต และจากนั้นให้ดูว่าความต้องการใกล้เคียงกันหรือไม่ หากผลผลิตมีมากเกินไปกว่าความต้องการ กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องไปดูว่าจะมีมาตรการอะไรมารองรับเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาที่เกษตรกรจะขายได้” น.ส.ชุติมากล่าว

อย่างไรก็ตาม แต่ละหน่วยงานจะต้องนำข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่ทั้งหมด เช่น พื้นที่การเพาะปลูก ความต้องการใช้ในการผลิตและแปรรูป การจำหน่าย ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และแนวโน้มราคาผลผลิต เป็นต้น มาหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 11 ก.ค. 2561 ก่อนจะจัดทำเป็นแผนการผลิตและการตลาดพืชเกษตรที่สำคัญแบบครบวงจรให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2561 จากนั้นจะส่งรายละเอียดให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำข้อมูลไปสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนให้สามารถตัดสินใจในการทำการเกษตรได้อย่างถูกต้องต่อไป

ทั้งนี้ หากจัดทำแผนด้านการผลิตและการตลาดสำหรับสินค้าเกษตรหลัก 6 ตัวเสร็จแล้ว จะมีการจัดทำแผนรับมือสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ต่อ เช่น ผลไม้ โดยเบื้องต้นคงต้องดูผลผลิตลำไยและลองกองที่กำลังจะออกสู่ตลาด ซึ่งจะต้องวางแผนในการช่วยระบายผลผลิตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาราคาตกต่ำให้แก่เกษตรกร

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การไม่กำหนดแผนการผลิตให้เกษตรกรทำให้มีปัญหาด้านราคามาโดยตลอด เพราะเกษตรกรจะเพาะปลูกตามที่เคยทำ และหากเห็นว่าราคาดีก็จะปลูกเพิ่มขึ้น แต่พอผลผลิตออกเกินความต้องการก็มีปัญหาด้านราคา แต่จากนี้ไป เมื่อ 4 หน่วยงานหลักมาทำงานร่วมกัน จะทำให้รับรู้ข้อมูลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง กระทรวงเกษตรฯ ก็สามารถไปวางแผนการผลิตได้เพราะรู้ว่าตลาดมีความต้องการเท่าไร ซึ่งเมื่อมีข้อมูลตรงนี้ชัดเจนก็ต้องไปทำความเข้าใจ โดยเฉพาะมหาดไทยที่จะใช้กลไกในพื้นที่เข้าถึงเกษตรกรและทำให้เกิดความเข้าใจ โดยขอให้ฟัง แล้วทำ เพราะถ้าไม่ฟังก็อาจจะมีปัญหาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น