xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ทุ่มอีก 4.2 หมื่นล้าน ผุดอาคาร 2 ขยายสุวรรณภูมิรับ 90 ล้านคนปี 64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด ทอท.อนุมัติลงทุนอีก 4.2 หมื่นล้าน ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เร่งแผนขยายสุวรรณภูมิ เพิ่มขีดรองรับผู้โดยสารอีก 30 ล้านคน/ปี เร่งชง ครม.ลงเข็มปี 62 เสร็จปี 64 พร้อมกับเฟส 2 ทำให้สุวรรณภูมิขยายขีดรับได้เป็น 90 ล้านคน/ปี

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธานวันที่ 20 มิ.ย. มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 42,084.564 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร อีก 30 ล้านคนต่อปี โดยให้ ทอท.นำเสนอแผนต่อกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

โดยปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนเป็น 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งจากที่ ทอท.ได้คาดการณ์ พบว่าในปี 2561 และ 2562 จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 65 ล้านคน และ 68 ล้านคนต่อปีตามลำดับ ซึ่งจะเกินขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร หลังดำเนินการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 แล้วเสร็จ ซึ่งจะส่งผลให้ยังมีความแออัดของสนามบินอยู่ ทอท.จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อรองรับผู้โดยสารได้อีก 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถเพิ่มเป็น 90 ล้านคนต่อปี ซึ่งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2562 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A มีพื้นที่ประมาณ 348,000 ตารางเมตร เป็นอาคารแบบ Multi-Terminal รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 12 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 18 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งปรับปรุงลานจอดอากาศยานให้สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสารโดยมีหลุมจอดประมาณ 14 หลุมจอด

2. งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน A, B และ C และ 3. งานก่อสร้างอาคารบริการท่าอากาศยานครบวงจร (Airport Multiplex Building: AMB) ด้านทิศใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่อาคารประมาณ 84,000 ตารางเมตร สามารถจอดรถยนต์ในอาคารได้ประมาณ 1,000-1,500 คัน และมีลานจอดรถยนต์ภายนอกอาคารอีกประมาณ 1,500-2,000 คัน 4. งานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ โดยเป็นระบบรถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก (MTB) และอาคารเทียบเครื่องบิน A ในปัจจุบัน ไปยังอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และเชื่อมต่อการเดินทางจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กับสถานีรถไฟฟ้า Airport Rail Link มีระยะทางรวมทั้งระบบยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร

5. งานระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เพื่อรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี และเชื่อมต่อกับระบบของอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน (6. งานก่อสร้างระบบถนนภายในท่าอากาศยานเพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้าออกอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และ 7. งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการฯ

อย่างไรก็ตาม ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบลอจิสติกส์ของประเทศ แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2560 เรื่องการพัฒนาระบบขนส่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จในภาคขนส่งทางอากาศโดยให้ท่าอากาศยานดอนเมือง และ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีขีดรองรับผู้โดยสารรวมที่ 90 ล้านคนต่อปีในปี 2562 และ 120 ล้านคนต่อปีในปี 2564 และเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของรัฐบาล


กำลังโหลดความคิดเห็น