xs
xsm
sm
md
lg

โฆษณาบอลโลกหงอย 5 เดือนตลาดยังร่วง 6%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - ปีนี้ “โฆษณาบอลโลกไม่คึก” ดับฝันเม็ดเงินโฆษณาไม่กระเตื้องเท่า 4 ปีก่อน “MI” ชี้ทั้งปี 61 อุตสาหกรรมโฆษณาลุ้นโตเพียง 4% ออนไลน์ขึ้นแท่นความหวังสูงสุดลงโฆษณา เบียดทีวีกระแสตกต่อเนื่อง

นายภวัติ เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI และในฐานะรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด เปิดเผยว่า ปกติช่วงเวลาที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก สถานการณ์การใช้งบโฆษณาถือว่าคึกคักมาก หรือใช้มากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 50% ซึ่งมีทั้งแบรนด์ที่ซื้อแพกเกจสปอนเซอร์บอลโลกโดยตรง และสินค้าที่โหนกระแสทำโฆษณา และโปรโมชันส่งเสริมการขาย รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 40-50 แบรนด์

แต่ปี 2561 นี้เป็นปีที่แตกต่างจากทุกครั้ง ตั้งแต่เรื่องของผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด สปอนเซอร์การถ่ายทอดสด และระยะเวลาของการทำตลาดที่กระชั้นชิด จากปกติจะมีเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ทำให้กระแสบอลโลกปีนี้ไม่คึกคัก ลูกค้าที่ควรใช้งบโฆษณาจึงมีน้อยลง คาดว่าไม่ถึง 10 รายในเวลานี้

“อย่างที่ทราบว่าสปอนเซอร์หลักของบอลโลกครั้งนี้มี 9 รายที่สามารถลงโฆษณาในช่วงระหว่างการแข่งขันได้ และทำโฆษณาได้ใน 3 ช่องที่ร่วมถ่ายทอดสด ทำให้สินค้าและบริการอื่นๆ ที่เคยโหนกระแสบอลโลกอย่างครั้งก่อนที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มสปอร์ต อย่างแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าเกี่ยวกับโทรทัศน์, กลุ่มรถยนต์, มอเตอร์ไซค์, เครื่องดื่ม, สแน็ก และดีลิเวอรี ปีนี้ไม่คึกคักอย่างที่ผ่านมา ทั้งนี้ มองว่าหลายแบรนด์อาจจะมีทำโฆษณาแบบอ้อมๆ เพื่อโหนกระแสบ้าง และอาจจะเห็นโฆษณาจากสินค้าเหล่านี้ใน 3 ช่องที่ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ในเวลาอื่นๆ ช่วงก่อนและหลังการแข่งขัน หรือสนับสนุนรายการข่าวกีฬามากขึ้นบ้าง แต่สำหรับช่องอื่นๆ ยังใช้งบปกติ”

ผลจากการคาดหวังว่าบอลโลกจะทำให้เม็ดเงินโฆษณาปีนี้คึกคัก หรือช่วยให้อุตสาหกรรมกลับมาโตได้ 6-7% แต่กลับไม่เป็นไปตามที่คาด จึงมองว่าสุดท้ายแล้วปีนี้อุตสาหกรรมโฆษณาน่าจะโตได้เพียง 4% คิดเป็นมูลค่าการใช้จริงเพียง 89,657 ล้านบาท ซึ่ง 5 เดือนที่ผ่านมาพบว่าภาพรวมโฆษณาติดลบ 6% แต่ครึ่งปีหลังยังหวังว่าเอเชียนเกมส์ และไม่มีช่วงเวลาพิเศษ ทำให้สามารถลงโฆษณาได้เต็มเวลา จะช่วยให้ภาพรวมปีนี้ยังคงเติบโตได้

อย่างไรก็ตาม สื่อโฆษณาที่ลูกค้ายังคงใช้งบ 3 อันดับแรก คือ 1. ออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงบอลโลกน่าจะเห็นมากขึ้น ทั้งเรื่องของการสร้างแบรนดิ้ง และทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย ซึ่งปีนี้พบว่าภาพรวมสื่อออนไลน์มีการขยับราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% 2. ทีวี ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับคอนเทนต์เป็นหลักด้วย และปีนี้ไม่มีการขยับราคามีแต่ปรับลงในรูปแบบโปรโมชันการลดและแถม และ 3. สื่อนอกบ้าน โดยเฉพาะสื่อทรานซิต ซึ่งพบว่ามีการปรับราคาขึ้น 5-10%


กำลังโหลดความคิดเห็น