xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ดันรถไฟทางคู่ “นครสวรรค์-แม่สอด” วงเงิน 9.6 หมื่นล้าน เชื่อมแนวออก-ตก และฮับอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.สัญจร รับทราบแผนพัฒนารถไฟทางคู่ เชื่อมแนวตะวันตก-ตะวันออก ด้านบน “นครสวรรค์-กำแพงเพชร-แม่สอด” วงเงินกว่า 9.6 หมื่นล้าน รถไฟเตรียมเดินหน้าออกแบบรายละเอียด ขณะที่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม กว่า 6 หมื่นล้าน เสนอ EIA พร้อมก่อสร้างก่อน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2561 (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดนครสวรรค์ วันที่12 มิ.ย. มีมติรับทราบการดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อรถไฟฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ และเร่งรัดศึกษาการเชื่อเส้นทางจากจังหวัดนครสวรรค์-อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นอีกด้วย

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการศึกษาออกแบบรถไฟทางคู่เส้นทางเชื่อมตะวันตก-ตะวันออก (E-W Upper) จาก แม่สอด-นครสวรรค์-บ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง รวม 902 กม. โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. กรอบวงเงิน 60,352 ล้านบาท ขณะนี้ศึกษาความเป็นไปได้ และออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

โดยช่วงนครสวรรค์-กำแพงเพชร -ตาก- แม่สอด ระยะทาง 256 กม. กรอบวงเงิน 96,785 ล้านบาท ศึกษาความเหมาะสม (FS) เสร็จแล้ว จากนั้นจะเป็นการศึกษาออกแบบรายละเอียด และช่วงนครสวรรค์-อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ระยะทาง 291 กม.กรอบวงเงิน 47,712 ล้านบาท เตรียมศึกษาความเหมาะสมในปีงบประมาณ 2562

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ ครม.สัญจรยังเร่งรัดการพัฒนาสถานีขนถ่ายสินค้า (ทรักเทอร์มินัล) ที่สถานีรถไฟเขาทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เร่งขยายพื้นที่โครงการพัฒนาสถานีรับมอบและส่งตู้บรรทุกสินค้า (CY) ที่สถานีรถไฟเขาทอง ตำบลเขาทอง และเร่งรัดโครงการก่อสร้างศูนย์บริการจุดพักรถบรรทุก (Truck Rest Area) ขาขึ้นจากทิศใต้ ที่ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ด้านตะวันออก ช่วงแยกทางหลวงหมายเลข 1 บรรจบทางหลวงหมายเลข 3004 และช่วงแยกทางหลวงหมายเลข 225-ทางหลวงหมายเลข 3004

โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 225 นครสวรรค์-จ.ชัยภูมิ, การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 แยกอินทร์บุรี-อ.สากเหล็ก ขยายทางหลวงหมายเลข 115 กำแพงเพชร-พิจิตร เป็นต้น

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานกลุ่มภาคเหนือตอนล่างถือเป็นศูนย์กลางคมนาคม จุดเชื่อมโยงระหว่างภาคกลางไปสู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาเซียน แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก (EWEC) เพื่อพัฒนาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น