การท่องเที่ยวกลายเป็นภาคเศรษฐกิจหลักเหมือนเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะหลังๆ ชัดเจนขึ้น
ทั้งแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ วัฒนธรรม อาหาร ห้องพัก เส้นทาง รวมทั้งบริการด้านต่างๆ รวมถึงเสน่ห์คนไทยที่ต่างชาติชื่นชอบ
เชียงใหม่โดดเด่นครบถ้วน อย่าว่าคนต่างชาติเลย คนไทยเองก็หลงนิยมเที่ยวเชียงใหม่กันทั้งนั้น
ท่ามกลางความเป็นเมืองท่องเที่ยว เชียงใหม่กลับประสบปัญหาน้ำคล้ายกับหลายเมือง ฝนตกหนักทีไรน้ำก็ท่วมเมืองเชียงใหม่ทีนั้น กลับกันถึงหน้าแล้งทีไรใจก็หวั่นกับการขาดแคลนน้ำชนิดต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ทีนั้น ทั้งที่เชียงใหม่มีน้ำสมบูรณ์
มันสะท้อนถึงความผิดปกติบางอย่างแน่นอน
กลับกันต้องผ่าทางตันปัญหาชนิดมโหฬารเช่นกัน
เชียงใหม่ตอนบนมีแหล่งน้ำสำคัญ 3 สายหลัก คือ แม่แตงในแนวตะวันตก แม่ปิงในแนวเหนือ-ใต้ และแม่งัดในแนวตะวันออก
การที่จะมีน้ำมั่นคงโดยปกติต้องมีเขื่อนคอยปิดกั้นลำน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำซึ่งช่วยบรรเทาน้ำท่วมฤดูฝนและนำน้ำไปใช้ในฤดูแล้ง แต่เชียงใหม่ตอนบนไม่มั่นคง เพราะมีเฉพาะเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเพียงแห่งเดียว อีก 2 แห่งถูกคัดค้านต่อต้านจนค้างเติ่งจนถึงวันนี้
น้ำในฤดูฝนจากแม่แตงที่ไปสมทบกับแม่ปิง จึงบ่าลงไปท่วมเมืองเชียงใหม่แบบไม่มีอะไรขวางกั้น เสียหายปีหนึ่งเฉลี่ย 400-500 ล้านบาท กลับกันในฤดูแล้ง เมื่อไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนอย่างอ่างเก็บน้ำ คนเชียงใหม่ก็ต้องซื้อน้ำดื่มน้ำใช้ เป็นความสูญเสียชนิดทั้งขึ้นทั้งล่อง
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ภายใต้ข้อจำกัดที่ว่านี้กรมชลประทานต้องใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายเข้าช่วย โดยเฉพาะคลองแม่แตงในการผันน้ำ
ประการแรก ขยายศักยภาพของคลองแม่แตงให้เพิ่มขีดความสามารถรับน้ำจากเดิม 19-26 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 50 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ตัดยอดน้ำไม่ให้ไหลลงเขตเมืองเชียงใหม่
ขณะเดียวกัน สุดปลายคลองแม่แตงระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร จะขุดคลองใหม่ระยะทาง 1-2 กิโลเมตรตามแนวเกาะกลางถนนที่เว้นไว้ เพื่อส่งน้ำลงแม่น้ำขานด้วยอัตรา 19 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้น้ำจากดอยสุเทพปุยที่หลากท่วมเมืองก็ผันออกนอกเมืองได้โดยง่าย
ประการที่สอง ใช้คลองแม่แตงผันน้ำไปเก็บไว้ตามแก้มลิงที่บูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน เช่น มณฑลทหารบกที่ 33 กองพันทหารสัตว์ต่าง กองพลทหารราบที่ 7 พลรบพิเศษที่ 5 ศูนย์ประชุมนานาชาติ เป็นต้น ในชั้นแรกมี 5 แห่ง ความจุ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ในชั้นต่อไปจะขยายอีก 10 แห่ง ความจุ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรเช่นกัน รวมทั้งเหนือบริเวณฝายแม่แตงที่เก็บน้ำได้อีก 6 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมแล้วเก็บน้ำได้ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร แก้มลิงหรือธนาคารน้ำเหล่านี้ช่วยหน่วงน้ำฤดูฝน และเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับอุปโภคบริโภคของเมืองเชียงใหม่ในฤดูแล้ง ที่ว่าขาดน้ำก็จะบรรเทาเบาลง
ประการที่สาม เป็นโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่คือผันน้ำจากฝายแม่แตงกว่า 120 ล้านลูกบาศก์เมตร ลงไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล แล้วผันอีกครั้งไปเติมอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธาราที่ป้อนประปาเมืองเชียงใหม่ 140 ล้านลูกบาศก์เมตรเช่นเดียวกัน โครงการนี้จะลดผลกระทบเมืองเชียงใหม่ในฤดูน้ำหลาก กลับกันยังจะช่วยให้ประปาเชียงใหม่มีน้ำมั่นคงเป็นกอบเป็นกำยิ่งขึ้น
“ด้วยกระบวนการข้างต้นนี้ จะช่วยให้เมืองเชียงใหม่พ้นจากภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก น้ำแล้งซ้ำซาก ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของเชียงใหม่ อย่างน้อยลดการสูญเสียจากอุทกภัยปีละ 400-500 ล้านบาท และต้องลำบากลงทุนหาน้ำในฤดูแล้ง” ดร.สมเกียรติกล่าว
เชียงใหม่จะเป็นจักรกลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้อย่างยิ่งยืน อย่างน้อยที่สุด ต้องขจัดปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งเป็นหัวใจของเมืองท่องเที่ยวและปัจจัยการผลิตอาหารที่จะป้อนเมืองให้ได้