“มีชัย” ยังไม่คิดตั้งองค์กรใหม่ผ่าทางตันวิกฤตการเมืองหรือไม่ ยัน 10 ข้อเสนอ คสช.มีน้ำหนักเท่ากับทุกฝ่าย ไม่ต้องทำตามทุกเรื่อง หวังเสนอรายชื่อนายกฯก่อนเลือกตั้งช่วยหาทางออกก่อนบ้านเมืองวิกฤต ระดมสมองหาทางออกบ้านเมืองแทน ม.7 ย้ำไม่คิดสร้างอำนาจใหม่ครอบอำนาจเดิม การันตี 100 เปอร์เซ็นต์ร่างเพื่อ ปชช. ไม่ใช่ตอบสนองผู้มีอำนาจ
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอของ คสช.10 ข้อ เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญว่าได้เสนอเข้าสู่อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเช่นเดียวกับข้อเสนอจากฝ่ายอื่นๆ ซึ่งไม่ถือว่าพิเศษไปกว่าของคนอื่น เช่น สนช. และ สปท. รวมถึงพรรคการเมืองก็ทยอยส่งมา โดยอนุกรรมการรับฟังความเห็นจะรวบรวมมานำเสนอต่อกรรมการอีกครั้ง ซึ่งข้อเสนอของ คสช.มีผลไม่แตกต่างจากข้อเสนอของฝ่ายอื่นๆ ในการตัดสินใจของคณะกรรมการเพราะทุกข้อเสนอมีผลในการตัดสินใจเหมือนกันไม่ได้อยู่ที่ใครส่งมา อยู่ที่ข้อเสนอที่ส่งมาต้องทำหรือไม่ แต่ข้อเสนอของ คสช.ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำทั้งสิ้น แต่บางเรื่องยังไม่ได้พูดคุยกัน เช่น กรณีภาวะวิกฤตที่ถึงทางตันควรหาทางออกอย่างไร หากสามารถหาทางออกได้ในรัฐธรรมนูญโดยกลไกปกติที่มีอยู่ก็ควรทำ ส่วนเรื่องที่จะสร้างองค์กรใหม่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีหรือไม่ ถือเป็นเพียงข้อเสนอหนึ่ง ซึ่งกรรมการจะกลับไปคิดเมื่อถึงมาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้
“ที่ผ่านมาจะมีปัญหาที่หาทางออกไม่ได้จนมีการเสนอไปถึงมาตรา 7 จึงคิดว่าจะหาหนทางไว้ว่าเมื่อเวลาเกิดทางตันจะทำอย่างไร โดยหลักคิดยังไม่คิดถึงองค์กรใหม่ คิดแต่ว่ากลไกปกติจะผูกโยงอย่างไรให้แก้วิกฤตได้ เพราะที่ผ่านมาเข้าใจ มาตรา 7 ผิด เนื่องจากเนื้อหาระบุเพียงว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่มีให้วินิจฉัยตามประเพณีการปกครอง การร่างรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 เขียนไว้ยาวเกินประเพณีการปกครองแล้วจึงไม่มีทางนำมาตรา 7 มาใช้ได้ แต่เวลาสิ้นไร้ไม้ตรอกคนก็ไปนึกว่าจะใช้มาตรา 7 ตั้งนายกฯ ใหม่ ซึ่งกำลังทำความเข้าใจใหม่ว่ามาตรา 7 ไม่เป็นเช่นนั้น แต่จะดูว่าเอาเนื้อหาใดมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าใช้จะเขียนให้ชัดเจนว่าจะใช้อย่างไร”
นายมีชัยยืนยันด้วยว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่คิดสร้างอำนาจใหม่เพื่อครอบอำนาจเดิม เพราะเท่ากับเอากองไหมที่ยุ่งเหยิงไปใส่กองไหมอีกกลุ่มที่ยุ่งเหยิงอยู่ซึ่งจะยิ่งไปกันใหญ่ แต่ตอนนี้หาปมอยู่รู้ว่าไหมพรมพันกันแต่ยังหาไม่เจอซึ่งยังคิดว่าเราจะหาเจอ อย่างไรก็ตาม แม้จะหาปัญหาเจอก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่ คสช.เสนอความเห็นให้มีการกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดทางตันนั้น นายมีชัยอธิบายว่า คสช.คงมองเห็นว่าในอดีตมักเกิดปัญหาที่ไม่มีทางออกคนมักเรียกร้องส่วนหนึ่งให้ทหารออกมา บางคนถึงขนาดด่าว่าไม่รู้จักรักษาบ้านเมือง ตอนนั้นทุกคนรุมว่าเขา เขาไม่อยากออกมา แต่สุดท้ายก็ต้องออกมาจึงอยากให้ช่วยหาทางออกว่าเวลาเกิดวิกฤตให้มีช่องทางแก้ไขบ้านเมืองได้ โดยที่ทหารไม่ต้องออกมา เช่นทะเลาะกันว่ารัฐธรรมนูญแปลว่าอะไรก็ไปศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับระบบเลือกตั้งที่ออกแบบให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 5 ชื่อนั้น นายมีชัยระบุว่า เป็นความหวังของกรรมการว่าการเสนอรายชื่อดังกล่าวจะทำให้ประชาชนรับรู้และนำมาใช้ได้เมื่อเกิดวิกฤต แต่ข้อสังเกตที่ระบุว่า หากรายชื่อที่เสนอมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นไม่ใช่คำตอบที่ประชาชนต้องการในขณะที่เกิดวิกฤตจะทำอย่างไรนั้น กรรมการไม่ทันคิดถึงเรื่องนี้แต่เห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ คงต้องดูกลไกอื่นในการหาทางออกเพื่อผ่าทางตัน
นายมีชัยยังระบุด้วยว่า คณะกรรมการไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของ คสช.ทั้ง 10 ข้อ เช่น กรณีที่มีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเขียนเพิ่มเติมอีก ยกตัวอย่างข้อ 7 ที่เสนอให้เขียนว่าการใช้กำลังทางทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มาทั้งภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง อาญา และทางปกครอง นั้นไม่จำเป็นต้องเขียน เนื่องจากเป็นหลักในกฎหมายอาญาปกติอยู่แล้ว และไม่คิดว่าข้อเสนอของ คสช.จะมีจุดประสงค์เพื่อนิรโทษกรรมล่วงหน้าเพราะมีกฎหมายปกติรับรองอยู่แล้ว รวมถึงข้อ 8 ที่เสนอว่าให้ทหารมีสิทธิเสรีภาพแสดงออกทางการเมืองเช่นเดียวกับประชาชน ก็ไม่จำเป็นต้องระบุตามที่เสนอมาเนื่องจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเชื่อว่าการไม่ปฏิบัติตาม คสช.ทุกเรื่องจะไม่มีปัญหาเพราะสามารถชี้แจงได้
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากรรมการไม่ได้มีอิสระเพราะต้องฟังทุกคนมาคิด แต่ไม่ใช่ฟังเฉพาะ คสช.เท่านั้น จึงสมารถยืนยันได้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองผู้มีอำนาจ โดยสามารถรับรองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าผิดพลาดก็เพราะโง่เขลาเบาปัญญา เพราะการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำเพื่อประเทศโดยตรง ทั้งนี้ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนได้ การแก้ปัญหาจึงต้องทำความคู่กับการปฏิรูปการศึกษา กลไกตำรวจในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย
นายมีชัยยืนยันด้วยว่า ไม่เปลี่ยนหลักการร่างรัฐธรรมนูญที่ว่าต้องให้แก้ไขยาก แต่ต้องแก้ไขได้ยากกว่ากฎหมายธรรมดา มิฉะนั้นจะไม่สามารถคงความเป็นกฎหมายสูงสุดได้ ซึ่งจะมีหมวดว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญถ้าไม่ยืดหยุ่นต้องถูกแก้ไข แต่ถ้ายืดหยุ่นก็จะไม่ต้องแก้ไข เช่น ไม่ต้องเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบของตุลาการหรือ แม้กระทั่งการคำนวณหา ส.ส.ในรายละเอียดแทนที่จะเขียนตายตัวก็ให้ไปเขียนในกฎหมายลูก
อย่างไรก็ตาม ต้องมีความชัดเจนเรื่องดุลแห่งอำนาจแต่ไม่จำเป็นต้องตายตัวเพราะจะเขียนหลักใหญ่ในรัฐธรรมนูญและให้แก้ไขยากกว่ากฎหมายปกติ โดยคิดว่าจะมีกลไกใดที่จะได้รับความยินยอมจากทุกภาคส่วน
“ต้องกำหนดให้ชัดว่าเวลามีปัญหาจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร ใครจะแก้ ใครตัดสินใจให้แก้ ใครรู้เห็นยินยอม ต้องเขียนให้ชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องทำประชามติหากจะแก้รัฐธรรมนูญ เพียงแต่พยายามหาช่องทางว่าเมื่อเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองจนไม่มีทางออกจะดูกลไกของรัฐธรรมนูญหาทางออกที่สงบเรียบร้อยได้อย่างไร”