ธุรกิจรายใหญ่ไทยที่เข้าไปลงทุนเวียดนาม ทั้งซีพี เอสซีจี และอมตะ ระบุตรงกันว่าเศรษฐกิจเวียดนามโตต่อเนื่อง และมีความได้เปรียบหลายด้าน ทำให้นักลงทุนยังคงเข้ามาต่อเนื่อง ไทยจึงต้องปรับตัวรองรับ ซี.พี.เวียดนามควักลงทุนเพิ่มอีก 7,600 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมมองเวียดนามเป็นโอกาสของสินค้าไทยเพราะคนเวียดนามนิยมใช้สูง
นายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น กล่าวระหว่างการต้อนรับนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และทีมงานที่เดินทางไปยังประเทศเวียดนามระหว่าง 8-10 มิ.ย. ว่าการลงทุนในเวียดนามแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยปัจจัย 3 ด้านที่เป็นจุดแข็ง คือ 1. การเมืองเข้มแข็งแม้จะเปลี่ยนแต่รัฐบาลก็ดำเนินนโยบายต่อเนื่อง 2. เปิดกว้างด้านการค้ากับต่างประเทศ โดยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) อาเซียน ยุโรป ฯลฯ ทำให้สนับสนุนการส่งออก 3. ประชากรวัยทำงานสูงถึง 60%
“เศรษฐกิจเวียดนามโตเฉลี่ยปีละ 6-7% จึงเป็นจุดแข็งให้การลงทุนเข้ามาต่อเนื่องซึ่งไทยเองเป็นนักลงทุนอันดับ 9 เวียดนามส่งออกกุ้งเป็นอันดับ 3 ของโลก แซงไทย และมีเป้าหมายจะส่งออก 1 ล้านตัน เป็นอันดับ 1 ในปี 2568 นโยบายหลายอย่างที่วางไว้เป็นเรื่องที่ไทยต้องติดตามและเร่งปรับตัว” นายมนตรีกล่าว
ทั้งนี้ ซี.พี.เวียดนามจะมีการลงทุนใหม่ 2 โครงการ คือ 1. โรงงานชำแหละไก่เพื่อส่งออก กำลังผลิต 52 ล้านตันต่อปี มูลค่าลงทุนประมาณ 7,300 ล้านบาท 2. โรงชำแหละและแปรรูปหมูเพื่อจำหน่ายในประเทศ กำลังผลิต 730,000 ตัว/ปี มูลค่า 320 ล้านบาท คาดว่ารายได้ทั้งหมดปีนี้ประมาณ 100,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 70,000-80,000 ล้านบาท โดยจะทยอยแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในปี 2562
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองผู้อำนวยการ บ.เอสซีจี ประจำประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าจีดีพีเวียดนามจะเติบโตได้ระดับ 7-8% และมีแนวโน้มจะโตต่อเนื่อง จึงถือเป็นประเทศหนึ่งที่น่าจับตามอง และสิ่งหนึ่งที่เห็นชัด คือ การที่คนเวียดนามจะมองแบรนด์สินค้าจากไทยมีคุณภาพนอกเหนือจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเข้ามาลงทุนได้
นายสุรกิจ เกียรติธนากร ประธานบริษัท อมตะซิตี้ เบียนโฮ จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจเวียดนามค่อนข้างเติบโตอย่างสม่ำเสมอ และมีการวางนโยบายที่การปฏิบัติค่อนข้างเร็ว หากเติบโตต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งจะพลิกให้เวียดนามมีจุดได้เปรียบมากกว่าไทยได้เช่นกัน
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เวียดนามมีความได้เปรียบในแง่ของตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต และคนเวียดนามนิยมสินค้าไทย นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรที่มากในการเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะเกษตรแปรรูป จึงเป็นโอกาสที่การลงทุนไทย แต่ก็มีอุปสรรคคือการหาผู้ร่วมทุนท้องถิ่นไม่ง่ายนัก กฎหมายก็เปลี่ยนเร็ว อย่างไรก็ตาม เดือนกรกฎาคมรัฐบาลไทยเตรียมหารือกับเวียดนามถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ที่ออกมาควบคุมการนำเข้ารถยนต์ไทยหากเจรจาไม่สำเร็จคงต้องใช้มาตรการตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน
“แม้ว่าจีดีพีเวียดนามจะสูง แต่ก็ยอมรับว่าฐานของเขายังห่างจากเราพอสมควร และส่วนหนึ่งเขามีการใช้จ่ายสูงจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการส่งออกที่โตเพราะได้เปรียบจากการทำ FTA หลายๆ ประเทศจึงได้เปรียบ แต่ไทยมีความได้เปรียบที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีมาก่อน และกำลังจะผลักดันให้มากขึ้น จึงเห็นว่าธุรกิจรายใหญ่เราเข้ามาลงทุนมากในเวียดนาม” นายสมชายกล่าว