xs
xsm
sm
md
lg

ไทยนิยมยั่งยืน แม่น้ำสาย คลายทุกข์เกษตรกรฝั่งไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ใครจะว่า “ไทยนิยม ยั่งยืน” เป็นโครงการหาเสียงของรัฐบาลก็ว่ากันไป แต่อีกด้านหนึ่งของโครงการนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะโครงการที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ขาดก็แต่งบประมาณสนับสนุนเท่านั้น

ถ้าเข้าคิวรองบประมาณประจำปี ไม่รู้ว่าปีไหนจะได้ บางโครงการเตรียมความพร้อมมาเนิ่นนาน โดยมีความเดือดร้อนของราษฎรพ่วงอยู่ แต่ไม่อาจขยับขับเคลื่อนได้เพราะไม่ได้รับงบประมาณตามที่คาดหวังไว้

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการปรับปรุงระบบส่งน้ำคลอง RMC2 และคลอง RMC3 โครงการพัฒนาการเกษตรแม่น้ำสาย เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำในฤดูแล้งของเกษตรกรแม่สาย 10,000 ไร่เศษ ให้ได้มีน้ำใช้ทำการเกษตร

แม่น้ำสาย ต้นน้ำอยู่ในพม่า แล้วไหลลงมาเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนไทย-พม่า บริเวณ อ.แม่สาย ของไทย กับ อ.ท่าขี้เหล็ก ของพม่า จากนั้นไหลลงแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายทำได้ยาก เพราะเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนคล้ายๆ แม่น้ำโขง ไทยอาศัยทำเป็นโครงการรับน้ำนองในช่วงน้ำหลากสำหรับพื้นที่ชลประทานกว่า 60,000 ไร่ โดยมีคลองส่งน้ำสายหลักฝั่งขวา 3 สาย ได้แก่ คลอง RMC1, RMC2 และ RMC3 แต่ฤดูแล้งแม่น้ำสายลดต่ำจึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตร ต้องใช้วิธีก่อสร้างฝายกั้นแม่น้ำสายเพื่อทดน้ำเข้าที่ทำการเกษตร

นื่องจากเป็นพรมแดน การทำฝายจะชั่วคราวหรือถาวรหรือกึ่งถาวรจึงต้องได้รับความเห็นชอบจากทางฝั่งพม่าด้วย เมื่อเกษตรกรก่อสร้างเองก็เป็นเรื่องกระทบกระทั่งกัน ทางการพม่ารื้อฝาย 3 ฝายที่ราษฎรสร้างไว้ คือ ฝายเหมืองแดง ฝายเวียงหอม ฝายเหมืองงาม ไล่จากต้นน้ำไปปลายน้ำตามลำดับ

จนกลายเป็นข้อพิพาทที่ทางการไทยต้องเข้าไปร่วมเจรจากับทางฝ่ายพม่า เพื่อขอให้เกษตรกรไทยสร้างฝายชั่วคราวเป็นฝายไม้ไผ่ แล้วค่อยรื้อในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่วิธีการนี้กลายเป็นภาระหนักตรงที่ต้องสร้างๆ รื้อๆ หมุนเวียนเรื่อยไปไม่รู้จบ

ล่าสุดฝ่ายไทยเสนอให้สร้างฝายยางพับได้ ซึ่งในฤดูแล้งจะทำหน้าที่เสมือนฝายดีๆ นี่เอง ใช้ประโยชน์ในการทดน้ำให้เกษตรกร พอถึงฤดูน้ำหลากก็พับเก็บไว้ใต้น้ำ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการไหลของกระแสน้ำจนทำให้น้ำท่วมสองฝั่งแต่อย่างใด

ตรงนี้ยังต้องรอการเจรจาระหว่างกัน ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ไม่อาจคะเนได้ว่ายาวนานเพียงใด ระหว่างนี้ ฝั่งไทยเองต้องแก้ไขปัญหาน้ำสำหรับเกษตรกรในฤดูแล้งด้วยตนเองไปพลางก่อน

จุดที่มีปัญหาของฝั่งไทยคือบริเวณฝายเหมืองงาม หรือฝายตำแหน่งที่ 3 ผ่านคลอง RMC 3 ตรงนี้พื้นที่สูงกว่า 2 จุด ดังนั้นจึงวางแผนให้น้ำเข้าทางฝายเวียงหอม หรือคลอง RMC2 โดยขุดคลองนี้ให้ลึกลง 1 เมตร เป็นระยะทาง 900 เมตร เพื่อชักน้ำเข้ามา จากนั้นจะแบ่งน้ำ 5 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ผ่านทางคลองขุดระยะทาง 100 เมตร เพื่อเชื่อมเข้าคลอง RMC3

ส่วนน้ำ 4 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ยังคงส่งให้พื้นที่ชลประทานของคลองส่งน้ำ RMC2 ตามปกติ

“การเจรจากับพม่าก็ว่ากันไป ระหว่างนี้กรมชลประทานก็แก้ไขปัญหาให้เกษตรกรไปพลางๆ ก่อน โดยการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำนี้ได้รับงบประมาณ 30 ล้านบาทจากรัฐบาลภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งตอบสนองความต้องการของราษฎรโดยตรงแล้ว ยังมีการจ้างงานด้วยประมาณ 180 คน”

นายเฉลิมเกียรติกล่าวด้วยว่า โครงการปรับปรุงระบบส่งน้ำ 2 คลองดังกล่าวยังสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานและสำนักงาน กปร. และหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาจัดหาน้ำให้พื้นที่การเกษตรแม่สาย เมื่อครั้งพระองค์เสด็จฯ ติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มผู้ผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย
จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

เป็นปรากฏการณ์ประจวบเหมาะที่เป็นนิมิตหมายสำคัญต่อเกษตรกรพื้นที่แม่น้ำสาย ที่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในการเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยลำพัง


กำลังโหลดความคิดเห็น