xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก เม.ย.แรงไม่ตกพุ่ง 12.34% เผย “ทุเรียน” ดาวเด่นขายจีนเพิ่ม 774.9%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เผยส่งออก เม.ย.ยังโตฉุดไม่อยู่ เพิ่ม 12.34% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน ระบุ ข้าว มัน ไก่ ผลไม้ เป็นสินค้าดาวเด่น แต่ “ทุเรียน” มาแรงสุด พุ่ง 207.2% เฉพาะยอดส่งออกไปจีนโต 774.9% ส่วนยอดรวมส่งออก 4 เดือนเพิ่ม 11.53% คาดทั้งปีโตเกินเป้า 8% แน่ แต่ขอประเมินตัวเลขอีกครั้งหลังพ้นไตรมาส 2 ไปแล้ว

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือน เม.ย. 2561 มีมูลค่า 18,945.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.34% เป็นการขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน และการนำเข้ามีมูลค่า 20,229.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.36% ขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 1,283.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออก 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 81,775.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.53% สูงสุดในรอบ 7 ปี นำเข้ามูลค่า 81,101.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.18% ได้ดุลการค้ามูลค่า 673.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้นมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่กลับมาเพิ่มขึ้น 9.8% จากเดือน มี.ค.ที่ติดลบ 3.3% โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่ม เช่น ข้าว เพิ่ม 19.1% มันสำปะหลัง เพิ่ม 25.8% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 12.4% ผัก ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 50.7% แต่ยางพารา ลด 12.3% และน้ำตาลทราย ลด 25.8% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 12.2% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 สินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่ม เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 17.8% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 23.9% เม็ดพลาสติก เพิ่ม 29% น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่ม 39% แต่ตู้เย็นและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ลดลง 9.4% , 5.0% และ 3.0% ตามลำดับ

“ตัวเลขการส่งออกในเดือน เม.ย.มีสินค้าที่เป็นดาวเด่น คือ ข้าว มัน ไก่ ตามด้วยผักและผลไม้ โดยสินค้ากลุ่มนี้ส่งออกได้เพิ่มสูงมาก แต่ไม่ใช่ข้าวมันไก่ที่กินเป็นอาหาร ซึ่งหากพูดแบบนี้ก็เรียกว่าครบมื้อเลย มีข้าวมันไก่ ตบท้ายด้วยผลไม้ เรียกว่าโตทุกตัว” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

สำหรับสินค้าดาวเด่นที่มาแรงในเดือน เม.ย. 2561 คือ ทุเรียน โดยมีการส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นมีปริมาณ 1.23 แสนตัน มูลค่า 220.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 207.2% เป็นการส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 5.6 หมื่นตัน มูลค่า 110.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 774.9% รองลงมาคือ เวียดนาม 4.17 หมื่นตัน มูลค่า 62.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 25.7% ฮ่องกง 2.1 หมื่นตัน มูลค่า 39.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 453.8% ไต้หวัน 3 พันตัน มูลค่า 5.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 203.0% มาเลเซีย 1 พันตัน มูลค่า 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดรวม 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ส่งออกทุเรียนไปตลาดโลกปริมาณ 1.48 แสนตัน มีมูลค่า 287 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 189.1% และเฉพาะจีนมูลค่า 125.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 531.1% ซึ่งเรียกได้ว่าทุเรียนมาช่วยเพิ่มยอดการส่งออกไปจีนเลยก็ว่าได้ และรัฐบาลน่าจะสนับสนุนให้ใช้การค้าออนไลน์กับผลไม้และสินค้าอื่นๆ เพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้เพิ่มขึ้นอีก

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการส่งออกยังคงคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวแข็งแกร่งจากการจ้างงานและมีมาตรการกระตุ้นด้านภาษี กลุ่มยูโรโซน มีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี เศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มไปได้ดี ญี่ปุ่น ที่แม้จะขยายตัวต่ำ แต่การส่งออกยังโตได้ต่อเนื่อง แต่ก็ต้องระวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่บางประเทศยังไม่โดดเด่น ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงค่าเงินที่ผู้ส่งออกห้ามประมาท ส่วนน้ำมัน ยังมองว่าไม่น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงมาก

ทั้งนี้ จะมีการทบทวนเป้าหมายตัวเลขน้ำมันใหม่หลังจากไตรมาส 2 ไปแล้ว รวมถึงเป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่กำหนดไว้ที่ 8% โดยขณะนี้ สนค.ยังคงยืนยันที่ 8% ไว้ก่อน ส่วนจะปรับขึ้นหรือไม่ ปรับเท่าใด อยู่ที่ระดับนโยบายจะเป็นผู้กำหนด แต่ก็มองว่าการส่งออกทั้งปีน่าจะขยายตัวได้มากกว่า 8% แน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น