“เจ๊เกียว” พบ “อาคม” เรียกร้องขึ้นค่าโดยสารรถ บขส.10 สต./กม. จี้เร่งตัดสินใจด่วน ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการต้องลดเที่ยววิ่งเพราะไม่มีเงินเติมน้ำมัน ระบุไม่ได้ขึ้นค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 59 ตอนนั้นน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 19.69 บาท/ลิตรเท่านั้น วันนี้ขึ้นมาถึง 29.79 บาท/ลิตร ระบุที่ผ่านมาเอกชนเจ๊งต้องเลิกวิ่งไปแล้ว 30%
วันนี้ (21 พ.ค.) นางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร ได้ขอเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเรื่องอัตราค่าโดยสาร โดยนางสุจินดากล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2561 อยู่ที่ 29.79 บาทต่อลิตร ทางผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนต่อไปได้ จึงมาเรียกร้องต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อขอปรับขึ้นค่าโดยสาร 10 สตางค์ต่อกิโลเมตร เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ และไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากนัก หากไม่ได้รับการพิจารณาผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับลดเที่ยววิ่งลงในบางส่วน
โดยปัจจุบันรถ บขส.และรถร่วมฯ มีบริการอยู่ 309 เส้นทาง โดยในส่วนของรถร่วมฯเอกชนมีรถกว่า 1 หมื่นคัน ซึ่งส่วนใหญ่ ใช้น้ำมันดีเซล เป็นหลัก มีประมาณ 5% ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่ได้รับการปรับขึ้นราค่าโดยสารเพื่อให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด อีกทั้งจำนวนผู้โดยสารลดลงเนื่องจากมีสายการบินต้นทุนต่ำ และมีรถตู้เข้ามาแข่งขัน ที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวแล้วแต่ก็มีผู้ประกอบการบางส่วนประมาณ 30% ที่ต้องเลิก เพราะไม่มีเงินในการลงทุนปรับปรุงรถ และค่าน้ำมัน และคืนใบอนุญาต บขส.ไปแล้ว
นางสุจินดากล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้มีมติปรับลดอัตราค่าโดยสารลง 3 สตางค์ต่อ กม. มีผลเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2559 ขณะนั้นราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 19.69 บาทต่อลิตร แต่หลังจากนั้นมาน้ำมันดีเซลได้ปรับในทิศทางขาขึ้นมาตลอด ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 29.79 บาทต่อลิตร หรือขึ้นมาถึง 10.10 บาทต่อลิตร การขอปรับค่าโดยสารเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการซึ่งไม่ได้ปรับราคามาแล้วเกือบ 3 ปี โดยปริมาณน้ำมัน 1 ลิตร รถโดยสารสามารถวิ่งได้ประมาณ 3 กม.
“ราคาที่ขอปรับไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริงๆ เพราะต้นทุนมีอีกหลายตัว แต่รัฐก็หาจุดเรื่องน้ำมันมาเป็นหลัก คือ น้ำมันขึ้น 1 บาท ปรับราคาได้ 1 สตางค์ แต่ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกบอกว่าอยู่ระหว่างการทำตารางต้นทุนน้ำมันใหม่ ให้ผู้ประกอบการรอไปก่อน แต่ก็หลายปีแล้วคิดไม่เสร็จ วันนี้มาพบเพื่อขอคำตอบก่อน ถ้าไม่ให้ก็ต้องขอหยุดวิ่งบ้าง หรือวิ่งน้อยลงในบางเส้นทาง เพราะไปไม่ไหว ไม่ใช่เป็นการประท้วงอะไร แต่กระทรวงคมนาคมจะต้องรับแก้ปัญหานี้โดยเร็วที่สุด” นางสุจินดากล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการเดินรถกับ บขส.ที่กำหนดเที่ยววิ่งขั้นต่ำขั้นสูง ตารางเดินรถ และ บขส.จะเรียกเก็บค่าดำเนินการจากผู้ประกอบการคิดเป็นเที่ยวละ 1 ที่นั่ง ส่วนรถสองชั้นเก็บ 1.5 ที่นั่ง