กนอ.เปิด 2 รูปแบบร่วมลงทุนท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 เอกชนสนใจร่วมดำเนินการทั้ง 2 รูปแบบเพียบ ทั้งกลุ่มธุรกิจพลังงานปิโตรเคมี สายการเดินเรือของเหลว ผู้ประกอบการท่าเรือของเหลว กนอ.เร่งสรุปภายในพฤษภาคมนี้ ก่อนเปิดเชิญชวนให้เอกชนสนใจลงทุนและร่วมลงทุนได้ภายในเดือนสิงหาคม
นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังการเปิดให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมแสดงความคิดเห็นการร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่ กนอ.ได้จัดทำไว้ 2 รูปแบบการลงทุน ได้แก่ 1. กนอ.เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชนลงทุนการก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเล กับรูปแบบที่ 2. เอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเลทั้งหมด ว่า มีหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนร่วมแสดงความเห็น 70 หน่วยงาน และเอกชนสนใจที่จะลงทุนทั้ง 2 รูปแบบ
ทั้งนี้ กนอ.จะนำมาวิเคราะห์และตัดสินใจเลือกดำเนินการภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จากนั้นจะประกาศเชิญชวนได้ในเดือนสิงหาคม 2561 โดยเอกชนที่สนใจลงทุน/ร่วมลงทุนยื่นข้อเสนอภายในเดือนตุลาคม 2561 และจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนธันวาคม 2561
“กลุ่มธุรกิจที่ให้ความสนใจในการลงทุนมี 3 ประเภท คือ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจพลังงานรวมถึงปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจท่าเรือของเหลว และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสายการเดินเรือของเหลว” นายอัฐพลกล่าว
ทั้งนี้ กนอ.ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาจัดทำรูปแบบในการลงทุน โดยมีหลักการสำคัญคือ ต้องเป็นรูปแบบที่มีผลตอบแทนทางการเงินที่เหมาะสมทั้งต่อ กนอ.และภาคเอกชน คือ ไม่เกิดภาระทางการคลัง หรือเกินความสามารถในการลงทุนของภาคเอกชน และมีผลตอบแทนทางการเงินที่เหมาะสม ซึ่งแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 กนอ.เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 12,900 ล้านบาท และเอกชนลงทุนการก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเล มูลค่าประมาณ 39,300 ล้านบาท จำแนกเป็นท่าเทียบเรือของเหลว ท่าเทียบเรือก๊าซ และพื้นที่เช่า (150 ไร่) กับรูปแบบที่ 2 เอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเลทั้งหมด
สำหรับโครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ให้บรรจุอยู่ใน EEC Project List หรือ 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ซึ่งขณะนี้ กนอ.ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)