xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ยันซื้อรถสายสีแดงอ่อน “ตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา” แจงจำเป็นลงทุนเพื่อรองรับอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คมนาคมเตรียมประชุมร่วม สศช. เร่งสรุปรถไฟสายสีแดงอ่อนช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงินกว่า 1.9 หมื่นล้าน ชงบอร์ด สศช. ด้าน ร.ฟ.ท.ยันแผนซื้อรถเพิ่มให้บริการเป็นฟีดเดอร์ แต่ต้องมีความถี่เพื่อส่งต่อผู้โดยสารเข้าสายสีแดงเข้ม

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดงส่วนต่อขยาย) สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ระยะทาง 8.9 กม. วงเงิน 7,596.94 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 6 กม. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 19.7 กม. วงเงิน 19,042.13 ล้านบาท ว่า อยู่ระหว่างให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทบทวนรายละเอียดในการลงทุนในส่วนของการซื้อรถวงเงินหลายพันล้านบาทเพื่อใช้ในสายสีแดงอ่อน ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ โดยให้พิจารณาจำนวนรถในสัญญา 3 ของสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่มีก่อน และความสามารถบริหารจัดการเดินรถที่มีประสิทธิภาพ อาจไม่จำเป็นต้องซื้อรถเพิ่มในส่วนของสีแดงอ่อนเพื่อประหยัดค่าลงทุน แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับการจัดตารางเดินรถความถี่ในการให้บริการด้วย

แหล่งข่าวระบุว่า จากการศึกษาทบทวน ร.ฟ.ท.ยังคงยืนยันความจำเป็นในการจัดหารถเพิ่มสำหรับบริการในส่วนของสายสีแดงอ่อนช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา เนื่องจากประเมินว่าปริมาณรถในสัญญา 3 รองรับกับความถี่ของการเดินรถช่วงบางซื่อ-รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน หากใช้ในช่วงสีแดงอ่อนอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ ยังเป็นการรองรับแผนการดำเนินงานในอนาคตของรถไฟที่จะเปลี่ยนเป็นระบบรถไฟฟ้า

วันที่ 10 พ.ค.นี้ กระทรวงคมนาคมได้นัดประชุมพิจารณาในรายละเอียดของโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางดังกล่าว โดยเชิญสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วมรับฟังข้อชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่ สศช.ได้สอบถามไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด เหตุผล ความจำเป็นของโครงการ คาดว่าจะสามารถสรุปและเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) สศช.พิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขออนุมัติต่อไป

สำหรับโครงการรถไฟสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต และสายสีแดงอ่อน ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา อยู่ในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 ซึ่งรูปแบบการเดินรถ ลักษณะเป็นฟีดเดอร์ มีความถี่การเดินรถ 6-9 นาที/ขบวน อีกทั้งเป็นช่วงที่อยู่ในเขตเมือง ส่วนสายสีแดงหลัก ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต และรังสิต-มธ.รังสิต จะมีความถี่ในการเดินรถ 4 ขบวน/ชม.

ส่วนสัญญา 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) นั้นมีวงเงิน 32,399.99 ล้านบาท เบื้องต้นจัดหารถจำนวน 130 ตู้


กำลังโหลดความคิดเห็น