มันสำปะหลังไทยฮอต ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้นำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรในตุรกีและต่างประเทศต่อแถวสอบถามแสดงความสนใจสั่งซื้อมันเส้นและมัดอัดเม็ดของไทยไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ หลังนำสินค้าตัวอย่าง ผู้ประกอบการไทย และนักวิชาการไปให้ความรู้ ในงานแสดงสินค้าอาหารสัตว์นานาชาติที่ตุรกี มั่นใจเปิดตลาดได้เพิ่มขึ้นแน่
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารสัตว์นานาชาติ ครั้งที่ 13 เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย ร่วมสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสัตว์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างวันที่ 27-29 เมษายน 2561 ณ เมืองอันทาเลีย สาธารณรัฐตุรกี ว่าการเข้าร่วมงานครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานเกินความคาดหมาย มีผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้นำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตร และผู้ประกอบการค้ารายสำคัญทั้งในตุรกีและประเทศต่างๆ ได้เข้ามาเยี่ยมชมบูทและสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย และแสดงความสนใจที่จะสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ตุรกี เป็นประเทศผู้นำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์รายสำคัญของโลก มีการนำเข้ากว่า 10 ล้านตันต่อปี และให้ความสำคัญอย่างมากต่อความปลอดภัยในวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แสดงความสนใจและยอมรับในผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยว่าเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพและสามารถทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่าจะนำเข้ามันสำปะหลังจากไทยได้เพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งมันเส้นและมันเม็ด จากปัจจุบันที่นิยมนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยในรูปกากมันสำปะหลังอัดเม็ด
“กรมฯ ได้นำ ผศ.ดร.เลอชาติ บุญเอก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสัตว์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ไปให้ความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรูปแบบอื่นว่าสามารถนำไปใช้ในสูตรอาหารสัตว์ได้ ไม่ว่าจะเป็นมันเส้นหรือมันอัดเม็ด ทำให้ตุรกีแสดงความสนใจที่จะนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในรูปแบบอื่นสูงขึ้น และยังพร้อมที่จะแนะนำและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ใช้มันสำปะหลังจากไทยเพิ่มขึ้นด้วย” นายอดุลย์กล่าว
นายอดุลย์กล่าวว่า การเข้าร่วมงานในครั้งนี้ได้ช่วยเปิดตัวให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยออกสู่สายตาของผู้ใช้ทั่วโลก ทำให้คนในวงการผลิตอาหารสัตว์รับรู้ถึงคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยที่สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ ถือเป็นการช่วยขยายตลาดส่งออกให้กับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการพึ่งพาตลาดเดียวอย่างจีน ซึ่งจะทำให้ราคามันสำปะหลังของไทยปรับตัวดีขึ้น และเกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในการผลักดันการส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดเพื่อไปทำอาหารสัตว์ ผู้ประกอบการไทยจะต้องติดตามสถานการณ์ราคาของสินค้าที่ทดแทนได้ เช่น ข้าวบาร์เลย์และข้าวโพดอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้วางแผนในการส่งออกได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน การเข้าร่วมงานยังทำให้ได้ทราบความต้องการซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะกากเนื้อในปาล์มด้วย