รมว.พลังงานตีกลับแผนพีดีพี ล่าสุดมอบโจทย์ให้ไปปรับใหม่โดยให้ สนพ.มุ่งเน้นศึกษาการเปิดตลาดเสรี (Free Market) ขณะที่ กฟผ.ให้ไปศึกษาโจทย์ความมั่นคงว่าจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ขีดเส้นให้รายงาน กบง.20 เม.ย.นี้ ด้าน สร.กฟผ.จ่อนัดถกผู้บริหารระดับสูง 26 เม.ย. ตอกย้ำจุดยืนสัดส่วนผลิตไฟ กฟผ.ต้องสอดรับรัฐธรรมนูญใหม่ไม่น้อยกว่า 51%
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบนโยบายในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ ที่มุ่งตอบโจทย์ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และการเปิดตลาดการแข่งขันธุรกิจไฟฟ้าแบบเสรี (Free Market ) ซึ่งทั้งหมดจะต้องส่งผลให้ค่าไฟฟ้าตลอดแผนระยะยาว 20 ปีควรถูกลงจากแผนเดิมที่สิ้นสุดปี 2579 ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 5.55 บาทต่อหน่วย โดยให้นำเสนอผลศึกษาเบื้องต้นในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) 20 เม.ย.นี้
“สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้รายงานแผนพีดีพีที่จัดทำเบื้องต้นที่เน้นการผลิตไฟฟ้าแบบรายภาคใน 8 ภูมิภาค แต่แผนที่จัดทำยังไม่ตอบโจทย์จึงขอให้ไปจัดทำมาใหม่โดยเน้น 8 ภูมิภาคเช่นเดิม ให้โจทย์ที่ต้องดูแนวทางการส่งเสริมตลาดเสรีการแข่งขันโดยไม่จำกัดประเภทเชื้อเพลิงแต่ราคาขายไฟจะต้องไม่เกินราคาขายส่งหรือประมาณ 2.44 บาทต่อหน่วย ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงแข่งได้ด้วย ส่วน กฟผ.ก็ให้ไปดูสัดส่วนการผลิตไฟทั้งหมดที่ตอบโจทย์ความมั่นคงว่าต้องการอย่างไรบ้างทั้งสัดส่วน กฟผ. เอกชน และนำเข้า
นายพนมทวน ทองน้อย รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า สร.กฟผ.ได้นัดหารือกับผู้บริหารระดับสูงไว้ในวันที่ 11 พ.ค.นี้เพื่อหารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างองค์กรและจุดยืนของ สร.กฟผ.ต่อการจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่ต้องการให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาตรา 56 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐต้องจัดหรือดําเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง และเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 51% มิได้
“สัดส่วนผลิตไฟของ กฟผ.จึงควรจะไม่ต่ำกว่า 51% เพื่อความมั่นคง ขณะนี้กำลังผลิตติดตั้งของ กฟผ.มีเพียงกว่า 40% และการเดินเครื่องจริงอยู่ในระดับ 35-37% ทำให้ยังพอมีเครื่องผลิตไฟฟ้าที่จะสแตนด์บายเวลาเอกชนมีปัญหา ซึ่งต่อไปหากสัดส่วนนี้ยิ่งลดลงและไม่เหลือสำรองไว้ให้ กฟผ.จะไม่มีอำนาจต่อรอง ที่สุดราคาค่าไฟจะแพงขึ้น ถึงตอนนั้นประชาชนจะลำบาก” นายพนมทวนกล่าว