xs
xsm
sm
md
lg

คนรสนิยมสูงรายได้ต่ำ “เฮ” แบรนด์ออฟโตเกียวบุกไทย แบรนด์เนมมือสองขายถูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชูศักดิ์ และ  วาสินี ตั้งเลิศสัมพันธ์
ผู้จัดการรายวัน 360 - “มันนี่ คาเฟ่” คว้าสิทธิ์ “แบรนด์ ออฟ โตเกียว” มารุกตลาดร้านขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองในไทย ต่อยอดธุรกิจโรงรับจำนำ ทุ่ม 100 ล้านบาท ผุดสาขาแรกแฟลกชิปสโตร์ที่สยามสแควร์ ยันไม่รับฝากขาย วางแผนเปิด 6 สาขาภายใน 5 ปี มั่นใจปีแรกรายได้ 80 ล้านบาท



นายชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มันนี่ คาเฟ่ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโรงรับจำนำ เปิดเผยว่า บริษัทฯได้รับสิทธิ์ในการใช้แบรนด์ “แบรนด์ ออฟ โตเกียว” (Brand OFF Tokyo) จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นร้านขายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง เข้ามาบริหารในประเทศไทย โดยจะใช้ชื่อว่า Brand OFF Tokyo by Money Cafe ซึ่งจะเปิดสาขาแรกที่สยามสแควร์ซอย 3 เป็นแฟลกชิปสโตร์ พื้นที่ 4 ชั้น รวม 200 ตารางเมตร จะเปิดบริการเป็นทางการพฤษภาคม 2561 นี้ ลงทุนไปประมาณ 100 ล้านบาท
ชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มันนี่ คาเฟ่ จำกัด
สินค้าที่จำหน่ายจะมาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ 1. สินค้าแบรนด์เนมมือสองจากญี่ปุ่นโดยตรง 30 - 40% และ 2. สินค้าแบรนด์เนมมือสองในไทย ที่มีผู้บริโภคหรือเจ้าของเดิมนำมาขายให้กับร้านเราเพื่อนำไปขายต่อ ประมาณ 60 - 70% ซึ่งบริษัทฯจะมีการเปิดอีเวนต์ให้เจ้าของสินค้ามาเจรจาขายกับเราได้ปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดจัดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้นำสินค้ามาขายให้กับเรา 120 คน รวมมากกว่า 200 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท โดยบริษัทฯไม่มีระบบฝากขายสินค้าในร้าน
ชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มันนี่ คาเฟ่ จำกัด
ทั้งนี้ สัดส่วนสินค้าที่จำหน่าย คือ กระเป๋าแบรนด์เนม 50%, จิวเวลรี่ 40% และอีก 10% เช่น นาฬิกา แอสเซสซอรี่ อื่นๆ อย่างไรก็ตาม เจ้าของสินค้าสามารถนำมาขายตรงที่ร้านได้ โดยบริษัทฯมีมาตรฐานและเจ้าหน้าที่จากญี่ปุ่นด้วย ในการควบคุมดูแลคุณภาพสินค้าและกำหนดราคามาตรฐานและตามสภาพของสินค้าแบรนด์เนมนั้นๆ ซึ่ง แบรนด์ ออฟ โตเกียว ยังอยู่ในสมาคม AACD ที่เป็นสมาคมต่อต้านและป้องกันสินค้าเลียนแบบอีกด้วย โดยบริษัทฯไม่มีระบบฝากขายสินค้าในร้าน

กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เนมมือสอง คือ นักศึกษา คนเริ่มทำงาน แม่บ้านทั่วไป โดยเป็นผู้ที่ต้องการสินค้าแบรนด์เนมแต่รายได้ไม่มากพอที่จะซื้อมือหนึ่ง และกลุ่มเจ้าของสินค้าแบรนด์เนมอยู่แล้วจำนวนมาก แต่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ก็นำมาปล่อยขายต่อ และกลุ่มที่มีสินค้าแบรนด์เนมจำนวนมากแต่ต้องการเพิ่มรุ่นใหม่ๆ
วาสินี ตั้งเลิศสัมพันธ์ มันนี่คาเฟ่
“เรามีฐานธุรกิจโรงรับจำนำมาอยู่แล้ว ชื่อว่า มันนี่ คาเฟ่ เราจึงเห็นพฤติกรรมลูกค้าตลอดว่า ไม่ค่อยกล้าเข้าโรงรับจำนำ เพราะกลัวภาพลักษณ์และทัศนคติที่ไม่ดีต่อโรงรับจำนำ ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราปรับภาพลักษณ์ใหม่โดยปรับปรุงสาขาที่ปิ่นเกล้าเป็นมันนี่ปิ่นคู่ (ตั้งอยู่ที่ปิ่นเกล้าคู่ขนานลอยฟ้า) ก็ได้รับการตอบรับที่ดี เรามีบริการใหม่ๆ พนักงานแต่งกายแบบใหม่ที่ดูเป็นกันเอง สร้างบรรยากาศที่ใหม่ที่ไม่เหมือนโรงรับจำนำแบบเดิมๆ” นายชูศักดิ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ก็ต้องการต่อยอดธุรกิจเดิมด้วย เพราะโรงรับจำนำ อัตราดอกเบี้ยตายตัว เพราะกำหนดโดยภาครัฐอยู่แล้วที่ 1.25% ต่อเดือน เราจึงมองธุรกิจสินค้ามือสองแบรนด์เนมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับโรงรับจำนำเช่นกัน สามารถเกื้อหนุนกันได้ทั้งในแง่สินค้าที่หลุดจำนำ อย่างเช่น ทอง ที่เป็นสินค้าหลักในโรงรับจำนำกว่า 50% หรือจิวเวลรี่ กับ นาฬิกา ประมาณ 30 - 40% ในโรงรับจำนำ และที่ผ่านมามีสินค้าที่หลุดจำนำมากกว่า 20% เราก็จะนำสินค้าเหล่านั้นมาจำหน่ายที่ร้านแบรนด์ ออฟ โตเกียว ด้วย เป็นการเติมเต็ม สินค้ากันเอง เพราะปกติแบรนด์ ออฟ โตเกียว จะมีแต่สินค้ากระเป๋าแบรนด์เนมมือสองเป็นหลัก

ทั้งนี้ ตามแผนธุรกิจจะเปิดร้านแบรนด์ ออฟ โตเกียว ปีหน้า 2 สาขา และ จะเปิดให้ครบ 6 สาขา ภายใน 5 ปี เป็นร้านทั่วไป ไม่ใช่แฟลกชิปสโตร์แล้ว พื้นที่ 50 - 100 ตารางเมตร ตั้งเป้าหมายรายได้ของร้านแบรนด์ ออฟ โตเกียว ปีแรกนี้ที่ 80 ล้านบาท และปีหน้าครบ 2 สาขา จะโต 15% ขณะที่โรงรับจำนำ มันนี่คาเฟ่ เหลือ 2 สาขา คือที่ ปิ่นเกล้า กับ รามคำแหง จากเดิมมี 3 สาขา เนื่องจากสาขาสยามสแควร์ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นแบรนด์ ออฟ โตเกียว สาขาแรกไปแล้ว และเตรียมเปิดมันนี่คาเฟ่อีกแห่งที่ปทุมธานี

แบรนด์ ออฟ โตเกียว ที่ญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจมาแล้ว 25 ปี มีสาขารวม 50 กว่าสาขา ในไต้หวัน 10 กว่าสาขา และฮ่องกง 7 สาขา และไทยเป็นประเทศล่าสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น