พพ.รุกพื้นที่ภาคเหนือติดตามงานปรับเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล และการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทน (CBG) ยันผู้ประกอบการฯ หลังปรับเปลี่ยนหัวเผาฯ ลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลงมากกว่า 40% และคืนทุนภายในเวลาเพียง 6 เดือน พร้อมชูแผนสนับสนุนผลิต CBG ทดแทนการใช้เชื้อเพลิง
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. ได้ติดตามงานด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในพื้นที่ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่-ลำพูน) โดยได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท เอราวัณบรรจุภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำไปเป็นหัวเผาที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเบื้องต้น พพ.ได้ช่วยค่าดำเนินการปรับเปลี่ยนหัวเผาพร้อมอุปกรณ์ประกอบ สัดส่วน 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 15 ราย
ทั้งนี้ ภายหลังที่บริษัท เอราวัณบรรจุภัณฑ์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจการผลิตกล่องลูกฟูก ได้ปรับเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำจากที่เชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นหัวเผาเชื้อเพลิงชีวมวล หรือใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (wood pellets) ทดแทน สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงของหม้อไอน้ำลงได้ประมาณ 43.12% โดยแต่เดิมบริษัทฯ ใช้เชื้อเพลิงปิโตรเลียมเหลว (LPG) จำนวน 1,388,400.00 ลิตรต่อปี ราคาลิตรละ 12 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงสูงถึง 16,660,800.00 บาทต่อปี
เมื่อเปลี่ยนมาใช้ Wood Pellet จะใช้ปริมาณเชื้อเพลิงอยู่ที่ 3,159,000.00 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 3 บาท ค่าเชื้อเพลิงจะอยู่ที่ 9,477,000.00 บาทต่อปี ดังนั้น การเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดแทน LPG ช่วยลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงลงได้ 7,183,800.00 บาทต่อปี ซึ่งจากมูลค่าการลงทุนปรับเปลี่ยนหัวเผาอยู่ที่ 6,152,500 บาท จะใช้ระยะเวลา การคืนทุน 8 เดือน และจากที่ พพ.สนับสนุนเงินลงทุน 30% ของเงินลงทุน คิดเป็น 1,845,750 บาท จึงทำให้บริษัทเอราวัณฯ ใช้ระยะเวลาคืนทุนเพียง 6 เดือนเท่านั้น
นายประพนธ์กล่าวเพิ่มว่า พพ.ยังได้ติดตามโครงการสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทน (CBG) ด้วยระบบท่อส่งก๊าซ (City Gas Grid) ณ หมู่บ้านโรงวัว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งการสาธิตการนำไบโอมีเทนอัดที่ผลิตได้ไปใช้ประโยชน์สำหรับยานยนต์เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในเครื่องยนต์ (NGV) ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางสนับสนุนระบบผลิต CBG ขนาดเล็กที่เป็นนวัตกรรมของคนไทย ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพอยู่แล้วในอนาคตต่อไป