คมนาคมจับมือตำรวจและคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยาน ทำ MOU วางหลักการประสานงานการสื่อสารเพื่อปฏิบัติงานร่วมกัน ให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพสูงสุดตามมาตรฐาน ICAO และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
วันนี้ (19 มี.ค.) นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมลงนามความร่วมมือด้านการสอบสวนอากาศยานประสบอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ ร่วมกับ พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ประธานกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร และ พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อกำหนดหลักการในการประสานงานการสื่อสารและความร่วมมือกัน เพื่อจัดให้มีการปฏิบัติงานร่วมกันตามอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายเมื่อมีกรณีเกิดอุบัติเหตุแก่อากาศยานในราชอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความร่วมมือนี้เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น และเป็นไปตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เคยให้ความเห็นไว้เมื่อปี 2558 โดยต้องการให้หน่วยงานของรัฐร่วมมือกันเพื่อทำให้ความมั่นใจในการสืบสวนสอบสวนการเกิดอุบัติเหตุอากาศยาน ซึ่งหลักการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยานในราชอาณาจักรและตำรวจจะแยกเป็นอิสระต่อกัน เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการสอบสวนต่างกัน แต่จะร่วมมือกันทำงานเพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุทำนองเดียวกันขึ้นอีก
MOU นี้จะมีการบูรณาการ เมื่อเกิดเหตุกับอากาศยาน ตั้งแต่การแจ้งข่าวระหว่างหน่วยงาน การประสานงาน เพื่อรักษาพื้นที่เกิดเหตุ และซากอากาศยาน การตรวจสอบ โดยคณะกรรมการจะเน้นที่การตรวจสอบนักบินภายใต้มาตรฐาน ICAO ส่วนตำรวจจะมีข้อกฎหมายเป็นตัวกำหนด ซึ่งอาจมีกรณีที่สนใจในหลักฐานชิ้นเดียวกัน จะมีข้อตกลงในการใช้หลักฐานร่วมกัน
พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ประธานกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร กล่าวว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งได้จัดทำขึ้นที่เมืองชิคาโกเมื่อ พ.ศ. 2486 จึงมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดแห่งอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้รัฐที่มีอุบัติเหตุของอากาศยานเกิดขึ้นในอาณาเขตของตนเอง จัดการสอบสวนอุบัติเหตุตามวิธีการ และเป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO เพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่การเอาผิดผู้ใดผู้หนึ่ง โดยตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่เป็นอิสระ ซึ่งตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 มอบอำนาจ รมว.คมนาคมตั้งกรรมการสอบสวนฯ เพื่อดำเนินการสอบสวนให้เป็นไปตามที่ ICAO แนะนำ
ส่วน MOU นี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการสอบสวนฯ กำหนดการทำงาน การประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เมื่ออากาศยานเกิดอุบัติเหตุตำรวจจะมีอำนาจสอบสวนทางอาญา และเข้าดูแลรักษาพื้นที่เกิดเหตุรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนปลัดกระทรวงคมนาคมมีอำนาจในการพิทักษ์รักษาตัวอากาศยาน ส่วนคณะกรรมการสอบสวนฯ มีหน้าที่ในการเข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูล ชิ้นส่วนอากาศยาน โดยเฉพาะกล่องดำ เพื่อทำการวิเคราะห์ และทำรายงานฉบับแรกไปยัง ICAO, รัฐผู้ผลิตอากาศยาน, รัฐผู้จดทะเบียน, ผู้ออกแบบ หรือรัฐที่เกี่ยวข้อง ภายในเวลา 30 วัน และทำรายงานฉบับกลาง และฉบับสุดท้ายภายใน 1 ปี เพื่อเป็นมาตรการคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย
พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีอากาศยานเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินของชาติใด เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่นั้นจะเข้าไปดูแลรักษาสถานที่เกิดเหตุ และสอบสวนคดี พร้อมกับเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือตามคำร้องขอของประธานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยาน และปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะเป็นผู้ออกคำสั่งเคลื่อนย้ายอากาศยาน ซึ่งการทำงานร่วมกันของ 3 ส่วนนี้จะทำให้การสืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ และรัดกุม โดยตำรวจไทยมีมาตรฐานในการสืบสวนสอบสวน การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลในอันดับต้นๆ ของโลก
*** “อาคม” กำชับ กพท.เรียกสายการบินดีเลย์บ่อยวางมาตรการป้องกัน
สำหรับกรณีเที่ยวบินดีเลย์นั้น นายชาติชายกล่าวว่า เป็นอีกประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุ แต่อาจเกิดจากปัญหาขัดข้อง ซึ่งมีหลายปัจจัย ซึ่งทาง รมว.คมนาคมได้ให้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้กำชับสายการบินให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน ซึ่งหากมีการดีเลย์จะต้องมีการดูแลผู้โดยสารอย่างไร พร้อกันนี้ ให้สายการบินตรวจสอบสาเหตุและชี้แจง พร้อมกับเรียกสายการบินที่เกิดปัญหาดีเลย์บ่อยๆ มาพูดคุย และตรวจสอบว่าการดีเลย์เกิดจากความจำเป็นจริงๆ หรือบางครั้งก็เป็นปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง