กพท.เดินหน้าแก้ข้อบกพร่องมาตรฐานการบินที่เหลืออีกกว่า 500 ข้อ ตามเกณฑ์ ICAO เตรียมจ้าง CAAI จากอังกฤษเป็นพี่เลี้ยงต่อ เพื่อช่วยจัดทำกฎหมายลูกใช้ประกอบ พ.ร.บ.การบินพลเรือน ซึ่งแก้ไขจาก พ.ร.บ.เดินอากาศเดิมที่ล้าสมัย และให้ช่วยทำเกณฑ์คู่มือตรวจสอบ Re-AOC ในส่วนเฮลิคอปเตอร์ “จุฬา” เผยจะออก AOC ใหม่ให้แอร์ไลน์ครบ 20 สายใน เม.ย.นี้
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับบริษัท CAA International Limited (CAAI) สหราชอาณาจักร โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ว่าจากการติดตามความก้าวหน้าในการตรวจสอบและประเมินเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (Re-certification) ซึ่ง กพท.ได้ว่าจ้าง CAAI เป็นที่ปรึกษาช่วยดำเนินการ ล่าสุดยังเหลือสายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ อีก 6 สาย จากทั้งหมด 20 สายที่เข้าสู่กระบวนการ Re-AOC คาดว่าจะสามารถ Re-AOC ได้ครบทั้งหมดภายในเดือน เม.ย. 2561
“ภายในเดือน ก.พ.คาดว่าสายการบินเอซี เอวิเอชั่น จะ Re-AOC ได้ ส่วนที่เหลือ ได้แก่ สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง, วีไอพี เจ็ทส์, แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น อยู่ในขั้นตอนที่ 4.3 ขณะที่ เจ็ทเอเซีย แอร์เวย์ อยู่ในขั้นตอน 4.2 และที่จะช้าสุดคือ เอช เอส เอวิเอชั่น ที่ยังต้องทำเอกสารใหม่ คาดว่าจะตรวจสอบเสร็จและรับ AOC เป็นรายสุดท้ายในเดือน เม.ย. 2561 โดยขณะนี้ได้เตรียมในการ Re-AOC สายการบินภายในประเทศ จำนวน 4 สาย และเครื่องประเภทเฮลิคอปตอร์ จำนวน 6 สาย ซึ่ง กทพ.จะดำเนินการเอง โดยในส่วนของเฮลิคอปเตอร์นั้นเดิมจะประยุกต์เกณฑ์มาตรฐานการตรวจสอบจากที่ใช้กับสายการบินระหว่างประเทศ แต่เห็นว่าควรกำหนดหลักเกณฑ์ตรวจสอบเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์เป็นการเฉพาะ จึงได้ขอให้ทาง CAAI ช่วยจัดทำเกณฑ์คู่มือในการตรวจเพื่อ Re-AOC ในส่วนของเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งตามแผนจะดำเนินการตรวจสอบสายการบินภายในประเทศและเฮลิคอปเตอร์ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. 2561
นายจุฬากล่าวว่า ขณะนี้ กพท.ได้เตรียมว่าจ้าง CAAI เพิ่มเติมวงเงินประมาณ 48 ล้านบาท เพื่อให้ CAAI เป็นที่ปรึกษาในการยกร่างกฎหมายลูกที่ใช้ประกอบ พระราชบัญญัติการบินพลเรือน พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นการแก้ไขปรับปรุงจาก พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 เดิม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายข้อบังคับขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และมีความทันสมัย
ทั้งนี้ จากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ตรวจพบประเทศไทยมีข้อข้อบกพร่อง จำนวน 572 ข้อ ที่ผ่านมาได้แก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns : SSC) จำนวน 33 ข้อ และ ICAO ได้ปลดธงแดงจากประเทศแล้วนั้น ข้อบกร่องที่เหลือประมาณ 500 ข้อนั้น จะเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งการปรับแก้และจัดทำกฎหมายลูกเพื่อใช้ประกอบนั้นจะเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องที่ ICAO ตรวจพบในส่วนที่เหลือ
โดยในเดือน ก.ย. 2561 จะแจ้ง ICAO เข้ามาตรวจซ้ำเพื่อประเมินมาตรฐานการบินของไทย (ICVM) และคาดว่า ICAO จะเข้ามาตรวจได้ในช่วงเดือน พ.ย. 2561 และหากผ่านทั้ง 500 กว่าข้อที่เหลือ จะทำให้มาตรฐานการบินของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ ICAO กำหนดที่ระดับ 60% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ถูกธงแดง มาตรฐานการบินของไทยตกไปอยู่ที่ประมาณ 34% และหลังปลดธงแดงได้ปรับขึ้นมาที่ 41%
นายจุฬากล่าวถึงการปรับยกระดับการบินของไทยจาก Category 2 ขึ้นเป็น Category 1 ว่าล่าสุดได้ ประสาน สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) แล้ว คาดว่าในเดือน มี.ค.จะหารือและรายงานความก้าวหน้าในการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ กับ FAA เพื่อเชิญให้เข้ามาตรวจสอบ ส่วน FAA จะเข้ามาเมื่อใด และจะตรวจสอบในรูปแบบการ Pre Audit ก่อน หรือ จะ Audit เลย ต้องรอ FAA พิจารณาอีกครั้ง ข้อบกพร่องส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไขจากการปลดธงแดงไปแล้ว เหลือเพียงปัญหานักบิน โดย กพท.ได้ปรับเกณฑ์ และปรับวิธีการมอบหมายในการตรวจเช็กมาตรฐานเพื่อให้รวดเร็วมากขึ้นแล้ว