xs
xsm
sm
md
lg

ยันสะพานวงเวียนหลักสี่แข็งแรง รอยแยกเป็นเทคนิค ยืดหยุ่นตามสภาพอากาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วสท.และกรมทางหลวง ลงพื้นที่ตรวจวิเคราะห์รอยแยกบนพื้นสะพานวงเวียนหลักสี่ หลังพบรอยแยกช่วงกลางสะพาน ยืนยันสะพานยังปลอดภัย ส่วนรอยแยกเป็นไปตามเทคนิควิศวกรรม เรียกว่า “รอยต่อเผื่อขยาย” ขยายและหดตัวของสะพานคอนกรีต เมื่อมีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง ด้านกรมทางหลวงวางแผนซ่อมแซมเพื่อลดรอยห่างของส่วนต่อขยาย ลดความวิตกกังวลของประชาชน แล้วเสร็จใน 7 วัน

จากมีผู้นำภาพพื้นสะพานวงเวียนหลักสี่ ฝั่งจาก ถ.แจ้งวัฒนะ มุ่งหน้าไป ถ.รามอินทรา มีรอยแยกช่วงกลางสะพาน ไปโพสต์บนเฟซบุ๊กและทำให้ประชาชนตื่นตระหนกมีความกังวลห่วงใยในความมั่นคงปลอดภัยของสะพานต่อการใช้งานนั้น ล่าสุดทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และผู้บริหารกรมทางหลวง (ทล.) ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจวิเคราะห์รอยแยกบนพื้นสะพาน ตามมาตรฐานทางวิศวกรรม เพื่อตรวจสอบและศึกษาลักษณะรอยแยกที่เกิดขึ้นนี้ตลอดจนประเมินความปลอดภัย

รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา กล่าวว่า ลักษณะภาพรวมของสะพานข้ามแยกวงเวียนหลักสี่ ยังมีความแข็งแรง ทั้งโครงสร้างที่เป็นเทคนิคในการออกแบบของสะพาน รวมไปถึงการป้องกันการยืดหดตัวในอุณหภูมิสูงที่ 40 องศาจะมีการยืดหดตัวในระยะเวลานานมากๆ ที่ยืดหดตัวนั้นอาจไม่กลับคืนมาที่เดิมจึงส่งผลให้ช่องรอยต่อของสะพานค้างอยู่

จากที่ วสท.ได้ตรวจสอบพบว่า มีการยืดหดตัวประมาณ 11 ซม. ซึ่งไม่ทำให้เกิดความน่าเป็นห่วง จึงไม่ต้องวิตกกังวล ทั้งยังได้ตรวจสอบเสารับน้ำหนักของสะพานยังปกติเหมือนเดิมพร้อมใช้งานอยู่ สาเหตุของการแยกห่างระหว่างตัวเชื่อมต่อที่พบเกิดจาก แผ่นยางที่เอาไว้รองด้านล่างของตัวเชื่อมต่อสะพานนั้นได้มีการหลุดร่อนไปตามสภาพ ตามระยะเวลาและตามอายุการใช้งาน ทำให้เสื่อมสภาพไปบ้าง จะต้องมีการเปลี่ยน รวมไปถึงการแก้ไขตัวเชื่อมต่อที่ห่าง ทั้งนี้รอยระยะห่างนี้ทางกรมทางหลวงที่ 13 ได้เฝ้าตรวจระวังอยู่ตลอดเวลา

รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวว่า จุดที่พบรอยแยก คือเทคนิคก่อสร้างทางวิศวกรรมที่ออกแบบเป็นจุดเชื่อมต่อ ลักษณะเป็นช่องว่าง เรียกว่า “รอยต่อเผื่อขยาย” หรือ Expansion Joint จุดเชื่อมต่อนี้กำหนดไว้เผื่อการขยายและหดตัวของสะพานคอนกรีต เมื่อมีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง หากอุณหภูมิที่สะสมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ตัวสะพานเคลื่อนที่ขยายตัวออก การขยายตัวจะมีขนาด 7-12 ไมครอนต่อองศา ถ้าเปรียบกับความยาวของสะพานประมาณ 30.5 เมตร อยู่ในอุณหภูมิสูงประมาณ 38 องศา จะมีระยะขยายตัวที่ 1.7 ซม. และมีโอกาสที่จะหดได้ 1.7 ซม.

ดังนั้น รอยต่อเผื่อขยายจึงเอาตัวเลขนี้มาทำการกำหนด ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนตัวยางรองปิดรอยต่อข้างล่าง ถ้าคำนวณจากตัวเลขอุณหภูมิ 38 องศา คูณ 2 หนึ่งข้างของสะพานจะสามารถขยายได้ 3.4 ซม. ทั้งสองข้างก็จะเป็น 6.8 ซม. ถ้าลองคำนวณแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดก็สามารถที่จะขยายตัวได้ถึง 10-16 ซม. ซึ่ง วสท.วัดได้ 11 ซม. อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย

ด้านนายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 13 กรมทางหลวง กล่าวว่า กรมทางหลวงจะเป็นผู้ดูแลในการซ่อม โดยระยะเวลาในการซ่อมจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน โดยจะเริ่มซ่อมในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น ตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มถึงตี 5 ได้ทำการซ่อมแซมมาหลายวันแล้ว ในส่วนที่เป็นรอยห่างของส่วนต่อขยายนั้นกรมทางหลวงจะเปลี่ยนใหม่จะทำให้รอยห่างของส่วนต่อขยายเล็กลงจะได้ลดความวิตกกังวลของพี่น้องประชาชน และจะซ่อมแผ่นยางใต้รอยต่อเผื่อขยายให้อยู่ในสภาพปกติ ซึ่งจะเปลี่ยนทั้งหมด 3 รอยต่อบนสะพาน โดยจะใช้เวลาในการซ่อมรอยต่อละ 7 วัน และคุณสมบัติการยืดหดตัวก็จะเพิ่มขึ้นด้วย จะทำให้เห็นช่องว่างน้อยลง พร้อมทั้งจะติดตั้งเครื่องมือวัดระยะห่าง เพื่อตรวจสอบได้ตลอดระยะเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น