xs
xsm
sm
md
lg

“โฮมชอปปิ้ง” มาแรง 2 เดือนงบพุ่ง 600% กำลังซื้อยังอ่อน-ลดงบโฆษณาเหลือโต 6%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือเอ็มไอ/MI
ผู้จัดการรายวัน 360 - MI ประเมินตลาดงบโฆษณารวมปีนี้ปรับลดเหลือแค่ 6% จากเดิมคาดจะโต 10% เหตุกำลังซื้อยังอ่อนตัว และคอนซูเมอร์รายใหญ่ลดงบลง เผย 2 เดือนแรกปีนี้ตกลง 7% ชี้ 2 เดือนแรกปีนี้กลุ่มโฮมชอปปิ้งมาแรงอัดงบโฆษณาพุ่ง 600% ขณะที่ช่วงซัมเมอร์ 3 เดือนปีนี้ งบรวมพุ่งถึง 2.5 หมื่นล้านบาท



นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือเอ็มไอ (MI) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ปรับอัตราการเติบโตตลาดรวมงบโฆษณาในปี 2561 นี้ลงเหลือโต 6% ด้วยมูลค่าประมาณ 91,000 ล้านบาท จากเดิมก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะโตถึง 10% เนื่องจากยังมีปัจจัยลบบางอย่าง เช่น กลุ่มสินค้าเอฟเอ็มซีจีรายใหญ่อย่างเช่น ยูนิลีเวอร์ และพีแอนด์จี ใช้งบลดลง อีกทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่กลับคืนมาเต็มที่

ส่วนธุรกิจของบริษัทฯ คาดว่าในปีนี้จะมียอดรวมการวางแผนและบริหารงบโฆษณาผ่านสื่อรวมมากกว่า 6,000 ล้านบาท หลังจากที่ปีที่แล้วได้มีการปิดงานพิตชิ่งงบโฆษณาจากหลากหลายบริษัททั้งกลุ่มรถยนต์และจักรยานยนต์ กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากตัวเลขของนีลสัน ประเทศไทย ช่วง 2 เดือนแรกปี 2561 นี้เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2560 พบว่า ตลาดตกลง 7% หรือประมาณ 1,170 ล้านบาท จากเดิมที่มี 16,365 ล้านบาท เหลือเพียง 15,186 ล้านบาท โดยที่สื่อทีวียังคงตกลงจาก 10,773 ล้านบาท เหลือ 9,780 ล้านบาท และสื่อนิตยสารตกลงมากที่สุดคือ 38% จาก 322 ล้านบาท เหลือ 199 ล้านบาท แต่สื่อออนไลน์จะเป็นสื่อที่เติบโตมากที่สุด แต่มูลค่ายังต่ำอยู่ คือ 2 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 230 ล้านบาท จากเดิมมี 217 ล้านบาท โต 6%

อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้พบว่า ธุรกิจโฮมชอปปิ้งเป็นธุรกิจที่ใช้งบโฆษณาสูงที่สุดจาก 2 เดือนแรกปีที่แล้ว 117 ล้านบาท เพิ่มเป็น 811 ล้านบาท โต 600% เนื่องมาจากสล็อตโฆษณาของทีวีมีเหลือ ทำให้นำมาขายเหมารวมราคาต่ำให้กับโฮมชอปปิ้ง ขณะที่อันดับที่ 2 คือ ภาครัฐ จาก 372 ล้านบาท เป็น 551 ล้านบาท โต 48% อันดับ 3 คือ เครื่องดื่มคาร์บอเนต หรือน้ำอัดลม จาก 254 ล้านบาท เพิ่มเป็น 345 ล้านบาท โต 36% และรถปิกอัพ จาก 455 ล้านบาท ลดเหลือ 324 ล้านบาท ตกลง 29% และสินค้ามือถือ จาก 328 ล้านบาท ลดเหลือ 287 ล้านบาท ตกลง 12% ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกปี 2561 นี้ สัดส่วนงบโฆษณาของสื่อทีวี (ที่รวมทีวีทั้งหมด) เหลือ 53% ออนไลน์เพิ่มเป็น 18.6% สื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 13% สื่อหนังสือพิมพ์ 6% และสื่อนิตยสาร 1% ที่เหลืออื่นๆ

“แต่ภาพรวมแล้วเชื่อว่าสื่อทีวียังคงมีเสน่ห์อย่างมากในบ้านเรา เพราะเข้าถึงคนได้ทั่วประเทศ แต่คงไม่ได้เติบโตแบบร้อนแรงเหมือนในอดีต แต่ก็คงไม่ได้ตกลงแบบดิ่งเหวอย่างที่กลัวกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ด้วยในแต่ละช่วงว่าเป็นอย่างไร อย่างตอนนี้กระแสละครย้อนยุคอย่างบุพเพสันนิวาสกำลังมาแรง โฆษณาทีวีก็มีมากขึ้น” นายภวัตกล่าว

สังเกตได้จากสื่อทีวีที่ยังคงแข่งขันกันรุนแรง เช่น ล่าสุดนี้ ช่องโมโนขึ้นมาเป็นที่ 3 แล้วแซงหน้าช่องเวิร์คพ้อยท์ที่มีความหวือหวา ส่วนช่อง 3 ยังแข็งแกร่งในกรุงเทพฯ ส่วนช่อง 7 อันดับ 1 ทั่วประเทศ ส่วนช่องวันและช่อง 8 ก็อยู่ใกล้เคียงกัน ขณะนี้ช่อง 8 มีการขึ้นเรตการ์ดมากกว่า 10 เท่าแล้ว ขณะที่ช่องอื่นยังไม่มีสัญญาณว่าจะขึ้นราคาโฆษณา

สำหรับบรรยากาศในช่วงซัมเมอร์ 3 เดือนปีนี้คาดว่างบโฆษณายังคงเติบโต คือ มีนาคมปีนี้ ใช้ 8,800 ล้านบาท โต 4% จากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนเดือนเมษายน 61 คาดว่าจะมีมูลค่า 8,000 ล้านบาท โต 5% จากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และเดือนพฤษภาคมปีนี้คาดว่ามีมูลค่า 7,600 ล้านบาท โต 4% จากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว โดยหมวดสินค้าที่คึกคักและใช้มากที่สุดในช่วงซัมเมอร์ คือ เครื่องดื่มกับสินค้าครีมกันแดด รวมกว่า 24,400-25,000 ล้านบาท

โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง 11 มีนาคมปีนี้เท่าที่เก็บตัวเลขมาได้ พบว่าเครื่องดื่มหลักๆ มีหนังโฆษณาใหม่รวมกันแล้วมากกว่า 40 แคมเปญ รวมมูลค่ากว่า 160 ล้านบาท และมีแคมเปญโปรโมชันใหม่รวมมากกว่า 10 แคมเปญแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น