ศาลแพ่งคุ้มครอง รฟม.แล้ว พิจารณาสั่ง “เบสท์รินฯ” เคลื่อนย้ายรถเมล์ NGV ออกจากพื้นที่เดปโป้ รฟม.ภายใน 3 วัน หากไม่ดำเนินการให้ รฟม.เคลื่อนย้ายเองได้ “รฟม.” สุดเอื้อ ส่งมอบพื้นที่ผู้รับเหมาไม่ได้ ต้องขยับแผนก่อสร้างเดปโป้สายสีส้ม
รายงานข่าวแจ้งว่า จากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด นำรถยนต์โดยสารปรับอากาศ NGV จำนวน 83 คัน ออกจากพื้นที่ของ รฟม.ศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) พระราม 9 ซึ่งเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2561 ศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองตามที่ รฟม.ได้ยื่น โดยสั่งให้บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เคลื่อนย้ายรถทั้งหมดออกจากพื้นที่ของ รฟม.ภายใน 3 วัน และหากเบสท์ริน กรุ๊ปฯ ไม่ดำเนินการ ฝ่ายโจทก์ หรือ รฟม.สามารถเคลื่อนย้ายรถออกจากพื้นที่ได้
ทั้งนี้ การที่เบสท์ริน กรุ๊ปฯ นำรถเข้ามาจอดในพื้นที่ของ รฟม. เกิดจากที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ประสานขอความอนุเคราะห์มายัง รฟม.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วยกันขอใช้พื้นที่ แต่ต่อมา ขสมก.กับเบสท์รินฯ มีการฟ้องร้องกัน และ ขสมก.ไม่รับรถของเบสท์รินฯ ซึ่ง ขสมก.ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ 502,955/2560 คดีระหว่าง บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนหรือมีคำสั่งให้ บริษัท เบสท์รินฯ ขนย้ายรถยนต์โดยสารปรับอากาศ NGV จำนวน 83 คัน ออกจากพื้นที่ของ รฟม.เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางและศาลฯ ยังไม่มีคำสั่งแต่อย่างใด
ขณะที่เบสท์รินฯ ยืนยันว่าจะไม่อาจย้ายออกจากพื้นที่ รฟม.ได้ เนื่องจากได้โอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โดยสารเป็นของ ขสมก.แล้ว และมีคดีพิพาทอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จึงต้องให้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดก่อน
ปัญหาดังกล่าวทำให้ รฟม.ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้ผู้รับเหมาไม่ได้ โดยหากเกิดการฟ้องร้องจะมีค่าเสียหายการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าประมาณเดือนละ 500,000 บาท
ด้านนายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการ (บริหาร) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ได้รับทราบคำสั่งศาลเบื้องต้นแล้ว โดยขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของ รฟม. และอัยการได้ดำเนินการตามขั้นตอนหลังศาลมีคำสั่ง อย่างไรก็ตาม หากครบกำหนด 3 วันแล้วยังไม่มีการเคลื่อนย้ายรถออกจากพื้นที่ รฟม.ตามคำสั่งศาลจะต้องดำเนินการในการบังคับคดีต่อไปตามขั้นตอน ซึ่งที่ผ่านมาเนื่องจากยังใช้พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ รฟม.พยายามปรับแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณศูนย์ซ่อมฯ เพื่อลดผลกระทบต่อการก่อสร้างโดยรวม
สัญญาที่ 5 สัญญาจ้างก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วจร ประกอบด้วยงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง โรงซ่อมบำรุงศูนย์ควบคุมการเดินรถ โรงจอดรถไฟฟ้า บริเวณสำนักงาน รฟม. ถนนพระราม 9 ห้วยขวาง และอาคารจอดแล้วจร จำนวน 1 แห่ง บริเวณสถานีคลองบ้านม้า ซึ่งสามารถจอดรถยนต์ได้ประมาณ 1,200 คัน ซึ่งมีกลุ่ม CKST JOINT VENTURE เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 4,831.24 ล้านบาท