“เมื่อ Facebook ปรับอัลกอริทึม จนทำให้ Reach หรือยอดคนเข้าโพสต์แต่ละครั้งของแฟนเพจน้อยลงแล้ว ดังนั้น แบรนด์ควรเพิ่มพื้นที่นอกจาก Facebook อย่างเว็บสินค้าของเราเอง ให้เป็นอีกพื้นที่ที่สื่อสารกับผู้บริโภคในออนไลน์”
คุณสหรัฐ สวัสดิ์อธิคม Managing Director, Executive Creative Director จากบริษัท CJ WORX ดิจิตอลเอเยนซีสัญชาติไทยที่เคยสร้างประวัติศาสตร์วงการโฆษณาด้วยการคว้ารางวัล GRAND PRIX CANNES LIONS 2017 วิเคราะห์สถานการณ์ด้านดิจิตอลมาร์เกตติ้งว่า ที่ต้องปรับตัวเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว ...
เพราะ 1 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเข้าสู่ยุคทองของอี-คอมเมิร์ซได้อย่างเต็มตัว ผู้บริโภคสั่งของกินของใช้ส่งตรงถึงบ้าน โดยลดความถี่ในการชอปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้า แม้เว็บไซต์ชอปปิ้งออนไลน์จะมีตั้งแต่ปี 2000 แต่ขณะนี้ถือว่าเป็นการเข้าสู่ยุคชอปปิ้งออนไลน์อย่างแท้จริง
คุณสหรัฐแนะนำเจ้าของธุรกิจควรให้ความสำคัญต่อพื้นที่แบรนด์อย่างเว็บไซต์ ควบคู่ไปกับพื้นที่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพราะที่ผ่านมาช่วงหลังๆ แบรนด์เน้นให้ความสำคัญต่อพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง Facebook จนลืมการเพิ่มพื้นที่แบรนด์ควบคู่กันไป โดยข้อแนะนำเบื้องต้นควรเช็ก 4 ปัจจัยที่เรียกว่า หากไม่มีถือว่าเว็บไซต์ถึงเวลาต้องปรับปรุงแล้ว ...
1. การแสดงเว็บไซต์ รองรับหน้าจอมือถือและแท็บเล็ตหรือยัง เพราะปัจจุบันเกือบ 90% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ดูข้อมูลผ่านจอโทรศัพท์มือถือ การที่เว็บไซต์แบรนด์ใหญ่ล้นเกินจอโทรศัพท์มือถือ หรือขนาดตัวอักษรก็เด้งไปเด้งมา และอีกหลากหลายปัญหา ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
2. เว็บไซต์เชื่อมต่อกับการเสิร์ชหาหรือไม่ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลายแบรนด์ไม่ให้ความสนใจ เพราะคิดว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะไปเสิร์ชหาข้อมูลจากพื้นที่ของผู้บริโภคอย่างการรีวิวมากกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะละเลยพื้นที่ของแบรนด์ที่ให้ข้อมูลเชิงละเอียดด้วยเช่นกัน
3. ชอบโดนใจ แล้วแชร์ไปโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ง่ายหรือเปล่า เพราะคอนเทนต์ที่โดนใจผู้บริโภคมักแชร์และบอกต่อ อย่างสินค้ารุ่นพิเศษจำนวนจำกัด หรือการรีวิวที่เนื้อหาถูกใจผู้บริโภค ฯลฯ ดังนั้นเว็บไซต์ที่ดีควรรองรับในการแชร์ เพื่อเชื่อมให้ผู้บริโภคคนอื่นได้รับรู้ด้วย
4. หน้าเว็บมีศาสตร์และศิลป์ในการโน้มน้าวแค่ไหน ไม่ใช่เพียงแค่มีข้อมูลเชิงลึก มีเนื้อหาที่เป็นคลิปวิดีโอ และมีการรีวิวการใช้สินค้าตามที่ผู้บริโภคยุคนี้ต้องการเท่านั้น ในเว็บไซต์ที่ดีควรจะมีอย่างที่ CJ WORX ให้ความสำคัญในเรื่องของ Psychology of web design คือ ทั้งดีไซน์ การจัดวาง องค์ประกอบและเนื้อหา ทั้งหมดต้องสอดคล้องด้วยเช่นกัน เช่น ต้องใช้ภาพอย่างไร มีอักษรพาดหัวอย่างไรถึงกระตุ้นให้เกิด Action จากผู้บริโภค หรือต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใดที่ผู้บริโภคเข้ามายังเว็บไซต์แบรนด์แล้วถึงเกิด Action อะไรบางอย่าง เช่น การคลิกดูรายละเอียดในหน้าถัดไป
แต่ใช่ว่าแบรนด์จะต้องทำเว็บไซต์ให้สามารถสั่งซื้อสินค้าและบริการได้เลย ผู้บริหาร CJ WORX บอกถึงสาเหตุว่า เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคยังใช้ราคาเป็นตัวตัดสินใจ เมื่อดูข้อมูลจากแบรนด์ หาข้อมูลรีวิวอื่นๆ มาประกอบ แต่สุดท้ายผู้บริโภคกลับไปซื้อในพื้นที่ที่มีการแข่งขันราคา อย่างเว็บไซต์ชอปปิ้งออนไลน์
ในยุคที่ Content is king และ Consumer is God ใครเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ก่อน ย่อมเข้าถึงและเข้าใจพวกเขาเหล่านั้น และช่วงชิงเม็ดเงินในกระเป๋าได้ก่อนใครเช่นกัน
(ที่มา : Facebook)