ผู้จัดการรายวัน 360 - “ไชยวัฒน์” ตัดใจทุบทิ้งปราสาททางเข้าสวนสยามเพื่อพัฒนาโครงการสยามเมืองบางกอก มูลค่า 3 พันล้านบาท เผยสวนน้ำสวนสยามยังเปิดบริการปกติ คาดปี 62 โครงการใหม่เสร็จ ดันรายได้ 1,500 ล้านบาทต่อปี พร้อมนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น
นายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานคณะกรรมการ กลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางแผนพัฒนาโครงการใหม่ในพื้นที่โครงการเดิมของสวนสยาม บริเวณด้านหน้าโครงการพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ ให้เป็นโครงการใหม่เพิ่มเติมชื่อ “สยามเมืองบางกอก” โดยใช้งบลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ประมาณ 2,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น ซีไอเอ็มบีแบงก์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารไทยพาณิชย์ ส่วนอีก 1,000 ล้านบาทเป็นเงินหมุนเวียนของบริษัทฯ เอง
โครงการนี้เป็นความฝันของผมมานานสิบกว่าปีแล้ว และจะเป็นโครงการสุดท้ายก่อนที่ผมจะเกษียณอย่างชัดเจน เราวางแผนพัฒนาและศึกษาโครงการมานานอย่างละเอียด ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องทำทั้งที่ไม่อยากทำก็คือ การทุบทิ้งอาคารทางเข้าด้านหน้าที่เป็นปราสาททางเข้า สัญลักษณ์ของสวนสยามที่สร้างมานานกว่า 40 ปี เพราะต้องการนำเอาพื้นที่มาพัฒนาโครงการสยามเมืองบางกอกนี้ และการปรับภัตตาคารแซลลี่ให้เป็นอาคารสองชั้นทรงนีโอคลาสสิกขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้อถอนอาคารที่เป็นปราสาทด้านหน้า คาดว่าเดือนมีนาคมจะสามารถวางศิลาฤกษ์ได้ แต่ช่วงก่อสร้างนี้ ในส่วนของสวนสยามยังเปิดบริการปกติ” นายไชยวฒน์กล่าว
สำหรับโครงการสยามเมืองบางกอก มีพื้นที่รวม 6,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยฟังก์ชันต่างๆ ทั้งจุดจำหน่ายบัตรผ่าน จุดประชาสัมพันธ์ จุดนัดพบ ห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุม ห้องอาหาร พื้นที่การค้า ทั้งหมดนี้เป็นเฟสแรก ลงทุน 300 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2562 ส่วนเฟสที่ 2 จะประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ต่างๆ รวม 13 อาคารที่เป็นการจำลองมาจากวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ สมัยเก่า เช่น ศาลาเฉลิมไทย ศาลาเฉลิมกรุง ห้างแบดแมนแอนด์โก ห้างบีกริมแอนด์โก คลองถม สำเพ็ง เยาวราชไชน่าทาวน์ บ้านพระอาทิตย์ เรือนขนมปังขิง เพื่อเป็นแหล่งส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าโอทอป สินค้าจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ให้ผู้ค้าเหล่านี้ได้มีแหล่งค้าขาย และตึกจอดรถ 5 ตึกรวมใต้ดิน รวม 5,000 คัน ซึ่งได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว คาดว่าเฟสที่สองจะแล้วเสร็จสมบูรณ์เปิดบริการได้ในปี 2563 โดยจะมีพื้นที่ส่วนค้าขายถึง 24.00 น. เพื่อสนับสนุนนโยบายตลาดนัดประชารัฐของรัฐบาลด้วย
“นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยจากนี้อีก 3 ปีหรืออย่างน้อยโครงการใหม่แล้วเสร็จเปิดบริการ โดยขณะนี้ได้บริษัท อี วาย เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคิดจะเข้าตลาดหุ้นมานานแล้ว นึกว่าเข้าง่าย เอาเข้าจริงมันยาก มันต้องมีความพร้อมทั้งด้านการบริการ จัดการ รายได้ กำไร เราต้องทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ต้องมีการจัดการที่ดี ซึ่งตอนนี้เราก็มีรุ่นลูกเข้ามาช่วยรับช่วงบริหารต่อแล้ว วันนี้ผมอายุ 80 ปีแล้ว ทำงานมาทุกวันไม่มีวันหยุด นอกจากวันที่ไม่สบายกับวันที่ไปต่างประเทศ ก็พยายามวางระบบจัดการบริหารให้ลูกๆ เข้ามาสานต่อ” นายไชยวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ ลูกชายคือ นายสิทธิศักดิ์ ตำแหน่งประธาน และนางนพกาญจน์ (ภรรยา) ดูแลด้านการตลาด การขาย, นายวุฒิชัย ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และนางวรพรรณ (ภรรยา) ดูแลด้านบุคคล, และนางจิรวรรณ (ลูกสาว) ดูด้านการเงิน บัญชี
นายไชยวัฒน์กล่าวต่อว่า โครงการนี้คาดว่าจะใช้เวลาคืนทุนไม่ต่ำกว่า 10-15 ปี เพราะโครงการแบบนี้จะต้องใช้เงินลงทุนมาก และการคืนทุนก็ลำบาก แต่เราต้องการทำเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการเติมเต็มและสร้างความแข็งแกร่งให้กับสวนสยามด้วย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนกับอินเดียที่เป็นตลาดใหญ่ ส่วนสวนสยามสวนน้ำเดิมก็ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริการ กิจกรรม และเครื่องเล่นใหม่ๆ ซึ่งยังมีพื้นที่เหลือรอการพัฒนาอีก 40 กว่าไร่ ด้านใน จากพื้นที่โครงการสวนสยามทั้งหมดกว่า 400 ไร่
ในปีที่แล้ว (2560) สวนสยามมีรายได้รวมประมาณ 500 ล้านบาท มีผลกำไรเฉลี่ย 50 ล้านบาทต่อปี โดยมีผู้เข้าใช้บริการประมาณ 1.7 ล้านคน แบ่งเป็น คนไทยมากกว่า 70% ต่างชาติ 30% และตั้งเป้าหมายว่าหากโครงการสยามเมืองบางกอกแล้วเสร็จเปิดบริการ จะมีรายได้รวมเพิ่มเป็น 1,500 ล้านบาทต่อปี และมีผู้เข้าใช้บริการรวม 3 ล้านคน แบ่งเป็น คนไทย 50% และต่างชาติ 50%