xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยย่าน "วังบูรพา" เดินเพลินแหล่งรวมวัยเก๋า จากท้ายวังถึงหลังวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 “ศาลาเฉลิมกรุง” หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง”
ถ้าหากพูดถึงในสมัยนี้ ย่านแหล่งยอดฮิตวัยรุ่น คงหนีไม่พ้น “สยาม” แต่ถ้าหากย้อนไปสมัยก่อนสัก 70-80ปี ย่านยอดฮิตของวัยรุ่นที่ไม่มีใครไม่รู้จัก ที่หลายคนต้องนึกถึง นั่นคือ ย่าน “วังบูรพา” ย่านที่เต็มไปด้วยการค้า แฟชั่น แหล่งบันเทิงมหรสพที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นหนุ่มสาวยอดฮิตในสมัยนั้น จนกลายเป็นเป็นที่มาของคำเรียก “โก๋หลังวัง” แต่ถึงแม้วันเวลาจะล่วงเลยผ่านไป ร่องรอยยุครุ่งเรืองสมัยก่อนยังคงมีให้เห็นอยู่ ฉันเลยขอมาเดินตามย้อนรอยในวันนี้กันเสียหน่อย โดย กองการท่องเที่ยว จัดเดินเท้าขึ้นในกิจกรรม ย่านเดินเพลินกรุงรัตนโกสินทร์ ตอน “เดินเพลินย่านวัยเก๋า จากท้ายวังถึงหลังวัง”
ภายในของศาลาเฉลิมกรุง
ย้อนรอยเก่ากันหน่อย ย่าน “วังบูรพา “ นั้น สมัยก่อน "วังบูรพาภิรมย์" เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อ พ.ศ. 2418

หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคต ในปี พ.ศ. 2471 วังนี้ก็ซบเซาลง และเมื่อปี พ.ศ. 2495 ทายาทราชสกุลภาณุพันธุ์จึงได้ขายวังบูรพาให้เอกชน คือนายโอสถ โกศิน ในราคา 12 ล้าน 2 หมื่นบาท มีการรื้อวังออก เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์สามแห่ง คือโรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์ควีนส์ และโรงภาพยนตร์แกรนด์ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2497 เมื่อรวมกับตลาดมิ่งเมือง (ปัจจุบัน คือ ศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่า) และโรงภาพยนตร์อีกแห่งหนึ่งคือ ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2475 จึงนับว่าย่านนี้เป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น

ในช่วง พ.ศ. 2499 - 2500 ย่านนี้ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นหนุ่มสาวทันสมัย เรียกว่าเป็น โก๋หลังวัง ซึ่งหมายถึง วังบูรพา นั่นเอง ทุกวันนี้ศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์เหล่านั้นล้วนเลิกกิจการไปหมดแล้ว แต่ย่านดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ วังบูรพา

เริ่มแรกจุดเริ่มต้นการเดินของเรานั้นนั่นคือ “ศาลาเฉลิมกรุง” หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เฉลิมกรุง เป็นโรงมหรสพหลวง ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นโรงภาพยนตร์ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ศาลาเฉลิมกรุงได้วางศิลาฤกษ์โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 และเปิดฉายภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 โดยมี มหาภัยใต้ทะเล เป็นภาพยนตร์ปฐมทัศน์
 “ร้านออน ล๊อค หยุ่น”
จุดเด่นของโครงสร้างศาลาเฉลิมกรุงคือ ไม่ได้ใช้ผนังเป็นตัวรับน้ำหนักแบบสถาปัตยกรรมไทย แต่ใช้โครงสร้างภายในรับน้ำหนักแทน โดยรอบห้องโถงใหญ่กลางจะแบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อย เพื่อให้ผนังและเสาย่อยของแต่ละห้องเป็นตัวช่วยพยุงน้ำหนัก ด้วยวิธีคำนวณให้ลงตัวอย่างสมดุล ด้วยเหตุนี้ห้องโถงใหญ่ของศาลาเฉลิมกรุงจึงกว้างขวาง ทั้งยังมีพาไลชั้นบนยื่นออกมา 1ใน 3 ของพื้นที่ โดยไม่มีเสามาค้ำยันให้เป็นจุดบังตาผู้ชม ซึ่งสมัยก่อนนั้นศาลาเฉลิมกรุง กลายมาเป็นโรงหลักของหนังไทย บริเวณเวิ้งรอบศาลาเฉลิมกรุงจึงเป็นแหล่งชุมนุมของบุคคลในวงการหนัง มีทั้งผู้สร้าง ผู้แสดง ตัวประกอบเดินกันขวักไขว่ รวมทั้งบริษัทจัดจำหน่าย ซื้อขาย ให้เช่าหนัง เรียงรายรอบศาลาเฉลิมกรุงที่เรียกกันว่า “มะขามสแควร์” เพราะสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของศาลาเฉลิมกรุงก็คือ มีต้นมะขามปลูกเรียงรายรอบโรง แต่ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป ศาลาเฉลิมกรุงแห่งนี้ ก็ยังเปิดบริการให้เข้าชมกันอยู่

จากนั้นเราเดินไปต่อกันที่แวะผ่าน “ร้านออน ล๊อค หยุ่น” ร้านเก่าแก่ของย่านวังบูรพาที่มีประวัติยาวนานกว่า 70 ปี ถือว่าเป็นแหล่งฮิตของวัยรุ่นในสมัยนั้น ซึ่งถึงแม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ ร้านออนล๊อคหยุ่น ก็ยังคงรักษาทุกอย่างไว้คงเดิม หากใครมาแวะกินอาหารเช้าที่นี้ เหมือนได้ย้อนกลับไปในวันวาน ซึ่ง ณ ตอนนั้น ศาลาเฉลิมกรุง ถือว่าเป็นแหล่งของวัยรุ่นในยุคนั้น
ดิโอลด์สยาม พลาซ่า
เดินไปเรื่อยๆ ชมห้าง "ดิโอลด์สยาม พลาซ่า" เดิมทีเมื่อก่อนนั้นตรงนี้เป็นตลาดมิ่งเมือง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 14 ไร่ ล้อมรอบด้วยถนนสายพาณิชย์เก่าแก่ทั้ง 4 คือ เจริญกรุง บูรพา พาหุรัด และตรีเพชร ดิโอลด์สยามพลาซ่าเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่สูง 5 ชั้น สร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ผสมผสานความเป็นไทย และ ศิลปะตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างงดงามและโดดเด่น

ภายในอาคารแห่งนี้ได้จำลองบรรยากาศของตลาดมิ่งเมืองในอดีตเข้าไว้ ด้วยร้านค้านานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านค้าผ้าชิ้น และชุดตัดสำเร็จหลากสีสัน หลายรูปแบบที่สวยงาม แปลกตา นับสิบๆร้าน ร้านขนมไทย และอาหารนานาชนิด สำหรับสุภาพสตรีผู้นิยมเครื่องประดับล้ำค่า อาทิ เพชร พลอย และ ทองรูปพรรณ ฝีมือประณีต สวยงาม สามารถเลือกชมสินค้าได้ในร้านค้า อัญมณีชื่อดังนับสิบร้าน นอกจากนั้น ยังประกอบด้วย ร้านปืน ซุ้มพระเครื่อง ศูนย์ขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้านานาชนิด และศูนย์ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่
“ห้างไนติงเกล-โอลิมปิค”
เดินไปอีกฝั่ง พบกับห้าง “ห้างไนติงเกล-โอลิมปิค” จุดเริ่มต้นจากร้านค้าเล็กในย่านวังบูรพาจนกลายมาเป็น ห้างสรรพสินค้า 7 ชั้นที่มีอายุยาวนานมากกว่า70ปี ที่ยังคงเปิดกิจการอยู่ เป็นแหล่งรวมสินค้า นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเขียน เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา เครื่องสำอาง น้ำหอมและ เสื้อผ้าแฟชั่น ถือเป็นห้างฯที่ทันสมัยครบครันที่สุดแห่งหนึ่งในยุคนั้น ตามสโลแกน “คลังเครื่องกีฬา ราชาเครื่องดนตรี ราชินีเครื่องสำอาง”
ภายใน “ห้างไนติงเกล-โอลิมปิค”
วิทยาลัยเพาะช่าง
เดินมุ่งหน้าไปตามถนนตรีเพชร เข้าสู่ "วิทยาลัยเพาะช่าง" แหล่งเรียนรู้ศิลปะการช่างของไทย สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง เป็นวิทยาเขตที่จัดการศึกษา วิชาศิลปะและหัตถกรรม โดยเฉพาะ แต่เดิมวิทยาเขตเพาะช่างได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำริทรงห่วงใยในศิลปะการช่างของไทยจะถูกอิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมต่างชาติโดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่หลายเข้าครอบงำอาจถึงคราวเสื่อมสูญได้ จึงมีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงศิลปะการช่างของไทยให้พัฒนาถาวรสืบไป
ภาพสีน้ำมัน ประติมากรรมนูนต่ำพระบรมสาทิศลักษณ์บริเวณรอบรั้ววิทยาลัยฯ เพื่อถวายความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
อาคารเก่าแก่แถวย่านปากคลอง
ออกเดินเท้าไปตามถนนจักรเพชรผ่านสะพานเจริญรัช ไปตามถนนมหาราช เข้าสู่ย่านเก่าตลาดท้ายวัง ตลาดเก่าของชาววัง ยาวไปจนถึงท่าเตียนที่เคยเป็นย่านการค้าใหญ่ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เดินผ่านสถานที่สำคัญ ทางประวัติศาสตร์ อาทิ ปากคลองตลาด โรงเรียนราชินี มิวเซียมสยาม ท่าเตียน ฯลฯ ซึ่งสมัยก่อนนั้นเป็นตลาดท้ายวังที่ใหญ่ แต่ปัจจุบันก็ถือเป็นแหล่งสำคัญของสถานที่หลายที่เช่นกัน
สถานีตำรวจที่สวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ในที่สุดก็เดินเพลินสำราญใจ พร้อมเรียนรู้ประวัติเก่าๆ ไปแล้ว แต่ฉันก็สัมผัสได้อย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่ายุคสมัยสมัยจะหมุนเวียนไปตามกาลเวลา กลิ่นอายของยุคเก่านั้นยังคงวนเวียนอยู่ เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่หากใครอยากย้อนเวลากลับไปอีก ก็ลองมาเดินเที่ยวชมกันได้ที่ “ย่านวังบูรพา” แห่งนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น