xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.ผนึก 6 พันธมิตรขับเคลื่อนนิคมฯ สมาร์ทปาร์คบูมลงทุนอีอีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กนอ.” ผนึก 6 พันธมิตรทั้งรัฐและเอกชนขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คในอีอีซีหวังรองรับการลงทุน เร่งวางระบบต่างๆ เพื่อรองรับการก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ เริ่มเปิดต้อนรับนักลงทุนได้ปลายปี 2562

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการเป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ 6 พันธมิตร ว่า กนอ.จะร่วมกับ 6 พันธมิตร ประกอบด้วย สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด บริษัท บางกอก อินดัสเทรียล แก๊ส จำกัด ร่วมพัฒนาโครงการระบบขนส่งภายในพื้นที่โครงการ ฯลฯ โดยคาดว่านิคมฯ ดังกล่าวจะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ในปี 63

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า นิคมฯ ดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภครวม 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นแผนการลงทุนเฉพาะ กนอ. 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนา อุตสาหกรรมลอจิสติกส์การบินและอวกาศ อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะหุ่นยนต์และจักรกล และอุตสาหกรรมดิจิตอลเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และเป็นแผนลงทุนของ 6 พันธมิตรประมาณ 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้นักลงทุนเข้าลงทุนได้ช่วงปลายปี 2562 และนิคมฯ จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2563 โดยประเมินว่าจะมีนักลงทุนสนใจลงทุนรวมประมาณ 60 ราย

ทั้งนี้ การพัฒนานิคมฯ Smart Park ได้ออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่ระบบต่างๆ จะต้องมีการทำงานอย่างชาญฉลาดและประสานความร่วมมือกับ 6 พันธมิตรดังกล่าว ได้แก่ บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งจะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้านลอจิสติกส์เพื่อจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า(Rayong International Distribution Center - RIDC) โดยใช้พื้นที่ในโครงการดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายธุรกิจรวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ดำเนินการพัฒนาโครงการบริหารจัดการความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะผ่านระบบ Single Platform ด้วยเทคโนโลยี Block Chain ที่ทันสมัย ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตและจ่ายความเย็นแบบรวมศูนย์ให้สอดคล้องกับพื้นที่และสภาพแวดล้อมของโครงการ

บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ดำเนินการศึกษาสนับสนุนการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค และร่วมกันออกแบบระบบสาธารณูปโภคให้เหมาะสมต่ออุตสาหกรรมของโครงการฯ บริษัท บางกอก อินดัสเทรียล แก๊ส จำกัด ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านก๊าซอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินการทางด้านอุตสาหกรรมในยุค 4.0 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านประสิทธิภาพการผลิต การอนุรักษ์พลังงาน และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาโครงการระบบขนส่งภายในพื้นที่โครงการ สถานีบริการ สถานีซ่อมบำรุง การให้บริการการเข้าออกระบบขนส่ง ส่วนบริการต่อเนื่องในระบบขนส่งภายใน พื้นที่พาณิชยกรรมต่อเนื่องในระบบขนส่งภายในศูนย์การประชุมที่ทันสมัย และจะใช้โครงการเป็นต้นแบบในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปในอนาคต และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะให้การสนับสนุนและการส่งเสริม


กำลังโหลดความคิดเห็น