“สกรศ.” แจงร่าง พ.ร.บ.อีอีซีคำนึงถึงผลกระทบทุกมิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม ชุมชน ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ 3 จังหวัด (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) ดีขึ้นแน่ แถมที่ผ่านมาเปิดรับฟังความเห็นคนในพื้นที่แล้วไม่น้อยกว่า 11 ครั้ง แถมแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินก็พิจารณาอย่างรอบด้าน นำข้อคิดเห็นมาปรับใช้ในขณะที่พิจารณาพระราชบัญญัติในชั้นกฤษฎีกา
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) และชี้แจงประเด็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แก้ไขร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ที่มีข้อเสนอ 4 ข้อ ว่า โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีเป็นโครงการที่สำคัญของรัฐบาล ที่จะต่อยอดจากโครงการที่มีอยู่เดิมใน 3 พื้นที่จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่คำนึงทุกมิติทั้งสิ่งแวดล้อม ชุมชน ที่จะมุ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในอนาคต ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิต คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“การพัฒนาอีอีซีเราคำนึงถึงทุกมิติ ลูกหลานไม่ต้องออกพื้นที่ไปหางาน มีสถานศึกษาที่ดี มีระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะรองรับที่ดีขึ้น จากโครงการลงทุน และการท่องเที่ยวมีเส้นทางคมนาคมที่ดีขึ้น และที่สำคัญ มีกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน หากประชาชนได้รับผลกระทบรัฐจะให้การดูแลอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว” นายคณิศกล่าว
ทั้งนี้ การพัฒนา EEC เป็นตัวอย่างการบูรณาการการพัฒนาที่คำนึงถึงการต่อเนื่องเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การ zoning การใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการจัดวางตำแหน่ง สถานประกอบการ และตำแหน่งการจัดวางระบบสาธารณูปการที่เหมาะสม และอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน ประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบกิจการ โดย สกรศ.ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคประชาชนหลายๆ ช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สกรศ.ตั้งแต่เริ่มต้น และยังได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน ไม่น้อยกว่า 11 ครั้ง
นายคณิศกล่าวว่า ข้อสังเกตเรื่องการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวมและแผนผังในกระบวนการทำงานจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ซึ่งมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบ
สำหรับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.อีอีซี พ.ศ.... ซึ่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีถึง 3 ครั้ง แสดงถึงการให้ความสำคัญในทุกประเด็น ทุกมิติ อย่างรอบคอบ ถึงแม้ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษ ซึ่งกรรมการทุกท่านพิจารณาร่วมกันอย่างรอบครอบทุกมิติ โดยมิได้มีการเร่งรัดหรือละเลยในทุกประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
“เราเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนตามช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่น ประชุมร่วมกับหน่วยงานเจ้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติผ่านสื่อออนไลน์ ประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนจังหวัด/ภาคเอกชน/ประชาชนในพื้นที่ EEC อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังนำข้อคิดเห็นมาปรับใช้ในขณะที่พิจารณาพระราชบัญญัติในชั้นกฤษฎีกา” นายคณิศกล่าว