กพท.เปิดแผนลงทุนผลิตชิ้นส่วนและซ่อมบำรุงอากาศยาน ทดสอบความสนใจนักลงทุน ก่อนเสนอรัฐบาลกำหนดนโยบายและกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการลงทุน ระบุอนาคตเครื่องบินขนาดกลาง A330 หรือโบอิ้ง B737 จะมีมากและเป็นลูกค้าหลัก เหตุกลุ่มโลว์คอสต์เติบโตสูง
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) เรื่อง แผนการดำเนินงานด้านนโยบาย กฎระเบียบ และมาตรการเพื่อกำหนดปัจจัยความสำเร็จในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ซึ่ง กพท.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และบริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน ศึกษาและวิเคราะห์อุตสาหกรรมเพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานด้านนโยบาย กฎระเบียบ รวมทั้งจัดทำมาตรการส่งเสริม
โดยได้เชิญผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มที่จะลงทุนมาร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งอีกประมาณ 1 เดือนเศษจะรวบรวมข้อคิดเห็นและสรุปการศึกษานำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นายจุฬากล่าวว่า แผนหลักๆ จะเห็นภาพในการพัฒนาและมาตรการต่างๆ ซึ่งในการซ่อมบำรุงอากาศยานเห็นว่าควรเน้นเครื่องบินที่ใช้งานในกลุ่มของสายการบินต้นทุนต่ำ เช่น เครื่องบินแอร์บัส A330 หรือโบอิ้ง B737 เป็นต้น ซึ่งจะเป็นลูกค้าหลักในอนาคต ไม่ใช่เครื่องบินขนาดใหญ่ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ใช้งาน โดยเฉพาะใน 20 ปีข้างหน้ามองว่า ไทยแอร์เอเชีย จะเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่มีฝูงบินจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็นนกแอร์
ส่วนการลงทุนนั้น ปัจจุบันการบินไทยร่วมมือกับบริษัทแอร์บัสในการดำเนินการศูนย์ซ่อมอากาศยาน แต่ขณะเดียวกันจะมีการเสนอให้มีการร่วมลงทุนได้อีกหลากหลายในพื้นที่ เพื่อให้เกิดเป็นนิคมอุตสาหกรรมด้านการบินที่มีผู้ให้บริการหลายราย รวมถึงสายการบินที่มีลูกค้าทั่วโลก สามารถใช้ไทยเป็นสาขาด้านซ่อมบำรุง ซึ่งปัจจุบันการซ่อมบำรุงใหญ่ สายการบินต้นทุนต่ำยังต้องส่งไปศูนย์ซ่อมสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งอนาคตต้องดึงให้ซ่อมในประเทศไทย
สำหรับการศึกษาจะกำหนดถึงแผนงานด้านนโยบายภาครัฐควรดำเนินการอย่างไร ซึ่งการลงทุนอุตสาหกรรมการบินของไทยนั้นจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องและเป็นส่วนสำคัญในการดึงนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ EEC ซึ่งแผนงานบางอย่างคณะกรรมการ EEC จะนำไปพิจารณาขับเคลื่อนแบบคู่ขนาน ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีการปรับปรุงข้อกฎหมาย เช่น ทุนจดทะเบียนที่ยกเว้นกรณีเป็นต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยมีมาตรการเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น หรือมาตรการทางการเงิน มาตรการด้านภาษี ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง มาตรการสร้างคนทำงานในอุตสาหกรรม อาจจะมีเรื่องทุนการศึกษา เป็นต้น
นายราเมช ตันจะวูรู ที่ปรึกษาจากฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิวัน กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกสนใจลงทุน ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการในประเทศไทยมุ่งการซ่อมบำรุงอากาศยานลำตัวกว้างเป็นหลัก แต่ยังขาดแคลนการซ่อมบำรุงอากาศยานลำตัวแคบ โดยเฉพาะการซ่อมบำรุงอุปกรณ์อากาศยานที่มีมูลค่าสูง เช่น ระบบล้อและเบรก (Wheels & Brakes) หน่วยสำรองกำลัง (Auxiliary Power Unit) อุปกรณ์ระบบสารบันเทิงบนเครื่องบิน (IFE) เชื้อเพลิงและตัวควบคุมเครื่องยนต์ (Engine Fuel & Control) รวมถึงระบบล้อลงจอด (Landing Gear) เป็นต้น
ขณะที่การศึกษาพบว่าใน 20 ปีข้างหน้าไทยจะมีรายได้สะสมจากอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานราว 14,500 ถึง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่รายได้สะสมจากอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจะมีมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะสามารถสร้างงานได้มากถึง 24,200 อัตรา และพบว่าผู้ผลิตชิ้นส่วน (OEM) ของไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตในขั้นที่ 3 (Tier 3) และขั้นที่ 4 (Tier 4) จึงยังมีโอกาสอีกมากที่จะพัฒนา