ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาอุตฯ การบินระยะ 15 ปี “คมนาคม” เดินหน้าแผนร่วมทุน ตั้งศูนย์ซ่อมอากาศและผลิตชิ้นส่วนในประเทศ มุ่งเป้าเป็นฮับในภูมิภาค และเป็น Aeropolis ภายในปี 2575
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ก.พ.ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน ระยะ 15 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ช่วง ซึ่งตามผลการศึกษาความเหมาะสมของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีการออกแบบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน และกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาประเทศไทย และใช้ศักยภาพจากที่ตั้งภูมิศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ และพบว่า 1. กิจกรรมซ่อมบำรุง (MRO) 2. กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และ 3. กิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้านการบิน (HR) เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะพัฒนาได้
นอกจากนี้ จากข้อมูลองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) พบว่าตลาดอุตสาหกรรมอากาศยานในช่วง พ.ศ. 2556-2578 จะมีการย้ายจากยุโรปและอเมริกามาเติบโตฝั่งเอเชียแปซิฟิก โดยเห็นได้จากคำสั่งซื้อเครื่องบินและการส่งมอบในช่วงดังกล่าวจะมีถึง 35,280 ลำ ซึ่งคำสั่งซื้อในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นจาก 26% เป็น 36% ของคำสั่งซื้อทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการย้ายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาค
ซึ่งกิจกรรมที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาสำหรับประเทศไทยจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินมี 3 กิจกรรม คือ 1. กิจกรรมซ่อมบำรุง (MRO) 2. กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และ 3. กิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้านการบิน (HR) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอออกมาเป็นแผนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงและอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2560-2575) ภายใต้วิสัยทัศน์การมุ่งสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน
โดยในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564) จะมีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและประเภทของการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอากาศยาน สร้างบุคลากร รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรการผลิตช่างและวิศวกรอากาศยาน ซึ่งปัจจุบัน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ศึกษาเพื่อหาผู้ร่วมทุนแล้ว ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินและสายการบิน หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งปัจจุบันการบินไทยมีการซ่อมบำรุงเครื่องบินลำตัวกว้าง อนาคตจะพัฒนาซ่อมเครื่องบินลำตัวแคบพิสัยกลาง เพื่อรองรับตลาดที่เพิ่มขึ้นสำหรับการบินระยะ 3-4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ทางแอร์บัส ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน A380 มีความสนใจที่จะตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ เพิ่มจากปัจจุบันที่มี 2 แห่ง คือ เมืองโดฮา (การ์ตา) และจีน ซึ่งมองภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่ม
ในส่วนของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน ในระยะแรก จากปัจจุบันที่มีโรงงาน 28 แห่ง จะเพิ่มผู้ประกอบการอีก 10-20 โรงงาน
ส่วนระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) จะมีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการซ่อมบำรุงภายในประเทศ จัดกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ให้ครบทุกประเภทอุตสาหกรรมอากาศยานตามแผนธุรกิจ และสร้างช่างเทคนิครวมทั้งวิศวกรอากาศยานให้เพียงพอต่อความต้องการ
ส่วนระยะที่ 3 (พ.ศ. 2570-2575) จะมีการจัดตั้ง Aeropolis เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินของภูมิภาค ยกระดับความสามารถในการผลิตอุตสาหกรรมอากาศยานเข้าสู่ Tier 2 (Disign & Build) และการพัฒนาบุคลากรด้านการบินจนสามารถเข้าสู่การเป็น Research & Institutions ได้
“จากแผนดังกล่าวมีการประเมินว่าจะช่วยสร้างผลตอบแทนให้แก่เศรษฐกิจไทยได้ถึง 1 หมื่นกว่าล้านบาท สามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศในการส่งซ่อมเครื่องบินได้ถึงปีละ 6,500 ล้านบาท และยังสามารถช่วยสร้างงานได้เกือบ 7,500 ตำแหน่ง ถ้าเกิดมีสายการบินใหญ่ๆ มาตั้งศูนย์ซ่อมในไทยก็จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและสร้างงาน”