xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” เคลียร์ ทย.-ทอท.ยุติศึกชิงสนามบิน เล็งกู้เอดีบีลงทุน เพิ่มศักยภาพ 28 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” เห็นชอบแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาค สั่ง สนข.สรุปรูปแบบลงทุนและบริหารใน 1 เดือน เคาะแบ่ง “อุดร-ตาก” ให้ ทอท. ขณะที่เอดีบีจ่อปล่อยกู้ ยกเครื่องสนามบิน ทย.ระยะ 10 ปี วงเงิน 3 หมื่นล้าน เพื่อลดภาระงบประมาณ และเร่งเสร็จภายใน 5 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายการบริหารท่าอากาศยานของประเทศไทยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมในการบริหารสนามบินทั้ง 39 แห่งทั่วประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รูปแบบการลงทุน การทำการตลาด ให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน ซึ่งเบื้องต้นเห็นตรงกันกรณี ทอท.จะบริหารสนามบินของ ทย.ควรเป็นอุดรธานีและตาก เพื่อเติมเต็มเครือข่ายด้านตะวันตกและอีสาน เพื่อกระจายความแออัดออกจากสุวรรณภูมิและดอนเมือง

ทั้งนี้ แม้ ทอท.จะพร้อมรับบริหารสนามบินของ ทย. แต่ สนข.จะต้องประเมินข้อดีข้อเสียและภาระการลงทุนเพื่อหารูปแบบการบริหารที่เหมาะสมในแต่ละสนามบิน เนื่องจาก วัตถุประสงค์ของสนามบิน ทย.ยังมีภารกิจด้านความมั่นคง ด้านสังคมอยู่ด้วย ขณะที่ ทอท.จะเน้นไปที่กำไรมากกว่า ดังนั้นรูปแบบการบริหารนอกจากการโอน หรือให้สิทธิ์แล้วยังมีการทำงานร่วมกัน ทำการตลาดร่วมกันก็ได้ ซึ่งรัฐอาจจะยังคงต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและให้ ทอท.รับบริหารโดยทำสัญญาตกลงกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ แผนพัฒนาสนามบินของ ทย.วงเงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี กรณีใช้งบประมาณประจำปีดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ทางธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้เข้ามาช่วยศึกษาแผนทางการเงิน ซึ่งอาจจะช่วยเร่งรัดการพัฒนาศักยภาพของสนามบินให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นเป็นภายใน 5 ปี โดยอาจจะใช้เงินกู้เอดีบีบางส่วนเข้ามาช่วยลดภาระด้านงบประมาณ ซึ่งภายใน 3 เดือนนี้จะมีความชัดเจน โดยในปี 2561-2563 ทย.ได้รับงบขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินกระบี่ และขอนแก่นบางส่วนแล้ว

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ทอท.เสนอขอบริหารสนามบิน ทย. จำนวน 15 แห่ง เพราะเห็นว่าควรมีสนามบินหลักและสนามบินรองด้วยเพื่อกระจายเที่ยวบิน และเห็นว่าการเป็นผู้บริหารรายเดียวจะทำการตลาดได้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การหารือในเบื้องต้นตรงกัน ในประเด็นการเติมเต็มโครงข่ายภาคตะวันตกและอีสาน ซึ่งอุดรธานีสามารถใช้เป็นฮับการบินเชื่อมเส้นทางไปต่างประเทศได้โดยไม่ต้องทำเที่ยวบินเข้ามาสุวรรณภูมิ

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการบริหาร หากเป็นการจ้าง ทอท.บริหารไม่ได้สิทธิ์หรือโอน ต้องมาดูเรื่องการลงทุน และระยะเวลาสัญญาจ้างที่เหมาะสมด้วย เช่น หากจ้างบริหารระยะ 15 ปี แต่ ทอท.ต้องลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ก็อาจจะไม่คุ้มและตอบคำถามผู้ถือหุ้นไม่ได้ ดังนั้นรัฐอาจจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น