รอยเตอร์ - การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในพม่า ตามการรายงานของรัฐบาล ในช่วงปีงบประมาณที่สิ้นสุดลงไปเมื่อเดือนมี.ค. ขยายตัวเกือบ 9,000 ล้านดอลลาร์ หลังทางการเร่งอนุมัติโครงการลงทุนในนาทีสุดท้ายก่อนส่งมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารของอองซานซูจี
ตัวเลขการลงทุนที่สูงเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นราว 1,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในภาคพลังงาน ภาคการผลิต และภาคโทรคมนาคม ตามการเปิดเผยของซาน มี้น เจ้าหน้าที่ประจำคณะกรรมการกำกับดูแลการลงทุนและบริษัท (DICA)
การลงทุนที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของความสนใจยังหนึ่งในตลาดที่ยังไม่ถูกแตะต้องแห่งสุดท้ายของภูมิภาคเอเชีย ที่ได้เสนอมาตรการทางภาษีและภาษีศุลกากรส่งออกตอบแทนการสร้างงานอย่างเร่งด่วนให้กับประชากรของประเทศ 51.5 ล้านคน
ซาน มี้น กล่าวว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากคณะทำงานรับรองโครงการลงนามข้อตกลงขนาดใหญ่หลายฉบับก่อนที่รัฐบาลของซูจีจะเข้าครองอำนาจในเดือนเม.ย. หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งเมื่อปีก่อน
"โครงการต่างๆ ที่อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาเป็นเวลานานเพราะขาดข้อมูลจำเป็นได้รับการจัดการให้เร็วขึ้นก่อนสิ้นปีงบประมาณ" ซาน มี้น กล่าว
ในปีงบประมาณ 2556/2557 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในพม่ามีมูลค่า 4,100 ล้านดอลลาร์ และขยายขึ้นสองเท่าในปีงบประมาณต่อมา จากการชนะสัมปทานในภาคส่วนน้ำมันและก๊าซของบริษัทต่างชาติ และการเข้า ลงทุนของเครือโรงแรมระดับโลก
สิงคโปร์เป็นอันดับหนึ่งในรายชื่อนักลงทุนต่างชาติ รองลงมาคือ จีน ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์
ธนาคารพัฒนาเอเชียคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่ามีโอกาสขยายตัวที่ร้อยละ 8.4 ในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. 2560 ด้วยปัจจัยจากการลงทุนของต่างประเทศ
"การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวขึ้นอีกจากการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จหลังการเลือกตั้งในเดือนพ.ย. 2558 ด้วยการลงทุนที่หลั่งไหลเข้าไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตั้งขึ้นใหม่ และภาคคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม และพลังงานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว" ธนาคารพัฒนาเอเชียระบุ
การเติบโตในการลงทุนของพม่ามีขึ้นหลังอดีตประธานาธิบดีเต็งเส่งดำเนินการปฏิรูปในปี 2555 ที่ขอการสนับสนุนจากนักวิชาการและสถานบันการเงินโลกยกเครื่องเศรษฐกิจที่ซบเซาจากการถูกคว่ำบาตรและนโยบายที่ไม่เหมาะสมระหว่างการปกครองของทหารนาน 5 ทศวรรษ
การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ของตะวันตกช่วยให้ต่างชาติเข้าถึงภาคส่วนต่างๆ ของประเทศได้ ตั้งแต่การธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ และการท่องเที่ยว ไปจนถึงโรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน สนามบินและธุรกิจการเกษตร
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์ เป็นจำนวนมากกว่าถึง 27 เท่า ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่พม่าได้รับในปีงบประมาณ 2552/2553 ที่ 329.6 ล้านดอลลาร์ ช่วง 1 ปีก่อนทหารสละอำนาจ.