xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใช้แล้ว อุโมงค์ลอดทางรถไฟโคราช แก้อุบัติเหตุจุดตัดถาวร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมทางหลวงชนบทเปิดใช้อุโมงค์ลอดทางรถไฟ กับถนนทางหลวงชนบท สาย นม.1001 จ.นครราชสีมา แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และเพิ่มความสะดวกของประชาชน ตามนโยบายซึ่งจะมีการก่อสร้างทางลอด และสะพานข้ามรวม 107 แห่ง

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากที่รัฐบาลมอบให้กระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟทั่วประเทศ โดยเฉพาะบริเวณที่มีปัญหาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ประกอบด้วย การติดตั้งป้ายหยุด ป้ายรูปรถไฟ จัดทำสัญญาณเตือนไฟกะพริบ เนินชะลอความเร็ว และป้ายเตือนบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาต (ทางลักผ่าน) จำนวน 584 แห่ง จัดทำเครื่องกั้นที่จุดตัดทางรถไฟที่ได้รับอนุญาตจำนวน 775 แห่ง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และโครงการก่อสร้างทางข้ามและทางลอดทางรถไฟ จำนวน 107 แห่งของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ตลอดจนเร่งประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ผู้ขับรถไฟและผู้ใช้ถนนขับรถด้วยความระมัดระวังเมื่อใกล้ถึงจุดตัดกับทางรถไฟเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ และลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ทช.ดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟ บริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนทางหลวงชนบท สาย นม.1001 ระหว่าง อ.บัวใหญ่ และ อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา ความยาว 1,380 เมตร ตัวอุโมงค์มีความยาว 830 เมตร กว้าง 11 เมตร งบประมาณการก่อสร้าง 331 ล้านบาท ซึ่งได้เปิดให้ประชาชนใช้สัญจรแล้ว

โดยโครงสร้างเป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กและถนนต่อเชื่อมกับถนนเดิม ขนาด 2 ช่องจราจรไป-กลับ มีแผงคอนกรีตสำหรับแบ่งทิศทางการจราจร และแผงกั้นเหล็กแบบล้อเลื่อนเพื่อเบี่ยงการจราจรในกรณีฉุกเฉิน มีหลังคาบริเวณช่องลอดทางรถไฟ ความยาว 130 เมตร

ภายในอุโมงค์มีระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่สามารถปรับความสว่างได้ตามสภาพแสงระหว่างวันเพื่อทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่ พร้อมติดตั้งระบบระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่องเพื่อป้องกันน้ำท่วมภายในอุโมงค์ และระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้หรือเหตุฉุกเฉินที่สามารถส่งสัญญาณเตือนไปที่ป้ายไฟบริเวณก่อนถึงอุโมงค์ และแจ้งเตือนผ่านระบบควบคุมระยะไกล เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบและสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ ทช.ได้นำนวัตกรรมมาปรับใช้ในการก่อสร้างอุโมงค์ช่วงลอดทางรถไฟ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถไฟ ด้วยการติดตั้งโครงสร้างเหล็กชั่วคราวเพื่อรองรับทางรถไฟในระหว่างการก่อสร้างแทนการเบี่ยงทางรถไฟ จึงไม่ต้องก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณใหม่เป็นระยะทางยาวเพื่อลดความยุ่งยาก ลดงบประมาณในการก่อสร้าง และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถไฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น