xs
xsm
sm
md
lg

สกัดรถเข้าเมืองชั้นใน สนข.สรุปแผน “จุดจอดแล้วจร” 41 แห่ง ดึงเอกชนร่วม PPP ลงทุนรวม 2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.ทำแผนแม่บทจุดจอดแล้วจร ระบุต้องสร้างเพิ่มอีกกว่า 30,000 ช่องจอด คาดเม็ดเงินลงทุน 2 หมื่นล้าน เน้นตามแนวสถานีรถไฟฟ้า ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนรถส่วนตัวเป็น 15% ในปี 64 โดยระยะเร่งด่วนต้องการ 11 จุด จำนวน 12,010 ช่องจอด เล็งใช้พื้นที่ราชการเป็นหลักเพื่อลดต้นทุน ขณะที่รัฐต้องอุดหนุนบางส่วน หรือร่วมทุน PPP พัฒนาอาคารจอดรถพ่วงเชิงพาณิชย์

นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา และรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาจัดทำระบบจอดแล้วจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาจราจรที่ติดขัด ซึ่งพบปัญหาช่วงรอยต่อของระบบขนส่งสาธารณะกับพื้นที่สำหรับจอดรถไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทระบบจอดแล้วจร โดยจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม ใกล้สถานีระบบขนส่งมวลชน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้จุดจอดแล้วจรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ปัจจุบัน กทม.มีจุดบริการจอดแล้วจรรวม 25 แห่ง ประมาณ 10,000 ช่องจอด ได้แก่ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวน 3 แห่ง ระบบรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) จากหัวลำโพงถึงบางซื่อจำนวน 12 แห่ง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 6 แห่ง รถไฟฟ้าสายใหม่จำนวน 7 สายทาง สายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูนมีอาคารจอดรถจำนวน 4 แห่ง ซึ่งพบว่าปัญหาหลักของระบบจอดแล้วจรมีหลายประเภท ได้แก่ จุดจอดแล้วจรบางแห่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางแห่งการใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ และการใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่จุดจอดแล้วจร ในการเสนอแนะรูปแบบ ตำแหน่ง และการศึกษา ความคุ้มค่าในการลงทุนสำหรับที่ดินของภาครัฐและเอกชนบางแห่งสร้างขึ้นโดยไม่มีแผนที่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน แม้อาจจะมีความพยายามประเมินความจุของที่จอดรถตามความต้องการใช้งานจริง แต่ส่วนใหญ่แล้วจำนวนที่จอดแล้วจรที่สร้างขึ้นถูกกำหนดโดยขนาดที่ดินที่สามารถจัดหาได้เป็นหลัก โดยไม่มีการพิจารณาวางแผนจุดจอดแล้วจรอย่างเป็นระบบในระดับภาคมหานคร

ดังนั้น ในการทำแผนแม่บทจุดจอดแล้วจรจะต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ขนส่ง และลอจิสติกส์คมนาคม โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจากปัจจุบัน 5% เป็น 15% ในปี 2564 โดยประเมินความต้องการจุดจอดแล้วจรจำนวน 30,000 ช่องจอดในปี 2564 และเป็น 43,880 ช่องจอดในปี 2574 หรือเพิ่มขึ้น 46.3% ซึ่งการศึกษาได้กำหนดแผนพัฒนา 41 จุด ใน 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ก่อสร้างภายใน 2 ปี (2561-2562) พัฒนา 11 จุด จำนวน 12,010 ช่องจอด ระยะกลาง ก่อสร้างเสร็จใน 3-5 ปี (2563-2565) พัฒนา 25 จุด จำนวน 21,860 ช่อง และระยะยาว ก่อสร้างเสร็จใน 6-12 ปี (2566-2572) 5 จุด จำนวน 3,611 ช่องจอด

โดยประเมินมูลค่าลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งหลักการจะพิจารณาที่ดินของภาครัฐมาดำเนินการเพื่อช่วยประหยัดงบบางส่วน เพราะการทำที่จอดรถอย่างเดียวไม่คุ้มค่า อาจจะต้องเปิดเป็นการร่วมทุน PPP ในบางพื้นที่เพื่อให้สามารถหารายได้เชิงพาณิชย์มาอุดหนุนด้วย นอกจากนี้จะต้องพิจารณาอัตราค่าจอดที่เหมาะสมเพื่อจูงใจ โดยการศึกษาได้กำหนดจุดจอดแล้วจรไว้ 4 รูปแบบ คือ 1. ประเภทลานจอดรถ จะอยู่ชานเมือง ราคาที่ดิน 40,000 บาทต่อตารางวา 2. ประเภทอาคารจอดแล้วจร (Exclusive P&R) ใกล้เขตเมือง ราคาที่ดิน 40,000-60,000 บาทต่อ ตร.ว. 3. ประเภทใช้งานร่วมกับการจอดรถเพื่อวัตถุประสงค์อื่น (Multi-purpose P&R) จะอยู่ใกล้เขตเมือง ราคาที่ดินมากกว่า 60,000 บาทต่อ ตร.ว. 4. ประเภทร่วมกับโครงการพัฒนาที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์อื่น (Mixed-use Development) อยู่ในศูนย์กลางเมืองบนถนนสายหลัก ราคาที่ดินมากกว่า 45,000 บาทต่อ ตร.ว.

โดยที่ปรึกษาจะสรุปผลศึกษาวันที่ 2 ต.ค.นี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในเดือน ต.ค. และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เพื่อมอบให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้เป็นแผนกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น