มาตรการคาดเข็มขัดนิรภัยห้ามนั่งแค็บกระทบเจ้าของรถกระบะ กรมการขนส่งฯ เผยสถิติทั่วประเทศมีจดทะเบียนใช้งานรวมกว่า 6 ล้านคัน แต่นั่งแค่ 2 คนด้านหน้า แค็บห้ามนั่งเด็ดขาด “อธิบดี ขบ.” แนะนำให้เช่าเหมารถรับจ้างที่ถูกกฎหมายเดินทางแทน
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยถึงมาตรการกฎหมายที่บังคับใช้ เรื่อง นั่งท้ายรถกระบะ และการคาดเข็มขัดนิรภัยว่า เป็นกฎหมายจราจรที่ทุกคนต้องปฏิบัติเพื่อเป็นการรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งกรณีรถกระบะที่มีแค็บนั้น บริเวณแค็บห้ามนั่งเนื่องจากไม่การติดตั้งระบบเข็มขัดนิรภัย ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้กับรถที่จดทะเบียนหลังปี 2537 ส่วนรถที่จดทะเบียนก่อนปี 2537 ถือว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ทั้งนี้ สถิติการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ในส่วนของประเภทรถ รย.3 หรือรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถปิกอัพ และแวน) ยอดสะสม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 พบว่าทั่วประเทศมีจำนวน 6,320,271 คัน เฉพาะกรุงเทพฯ มีจำนวน 1,293,733 คัน และส่วนภูมิภาคมีจำนวน 5,026,538 คัน
“การเคร่งครัดกฎหมายที่มีอยู่แล้วเป็นการร่วมรณรงค์การลดอุบัติเหตุการสูญเสีย และกฎหมายก็ยังจะบังคับต่อไปแม้ว่าจะไม่ใช่ช่วงเทศกาลแล้ว ซึ่งกรณีต้องเดินทางไปยังต่างจังหวัดโดยการนั่งท้ายกระบะนั้น กรมการขนส่งฯ ขอแนะนำให้เช่าเหมารถรับจ้างที่ถูกกฎหมายเป็นสิ่งที่ดีที่สุด นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องของการเดินทางด้านการขนส่งสาธารณะจัดเตรียมเที่ยวรถโดยสารให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสาร มั่นใจว่าผู้โดยสารจะไม่ตกค้างอย่างแน่นอน ส่วนความคืบหน้าการจัดระเบียบรถแท็กซี่อูเบอร์ที่ถูกกฎหมายนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษารายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือน” นายสนิทกล่าว
พร้อมกันนี้ กรมการขนส่งทางบกได้จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2560 ภายใต้โครงการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของกรมการขนส่งทางบก “ปลอดภัยทุกชีวิต ขับรถเป็นมิตร ผู้ร่วมทาง Safe Drive, Save Lives” โดยมี นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน โดยได้ตั้งเป้าหมายลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของรถทุกประเภท ความรุนแรงของอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และการสูญเสียทรัพย์สิน
และได้ดำเนินการมาตรการ “สแกนรถโดยสาร” เข้มข้น จริงจัง ด้วยการตรวจสอบความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถทุกคน ทุกคัน ทุกสถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดรถที่กำหนด รวม 212 แห่งทั่วประเทศ ตามรายการตรวจสอบที่กรมการขนส่งทางบกจัดทำขึ้น (Checklist) เช่น การติดตั้งระบบ GPS Tracking ในรถตู้โดยสารและรถโดยสารสาธารณะ การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยต้องมีครบทุกที่นั่งและสามารถใช้งานได้ จำนวนที่นั่งไม่เกิน 13 ที่นั่ง ตำแหน่งการติดตั้งที่นั่งต้องไม่กีดขวางประตูฉุกเฉิน สภาพยางและล้อต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นต้น ส่วนพนักงานขับรถตรวจใบอนุญาตขับรถ ตรวจความพร้อมของร่างกาย ไร้สารเสพติดและแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ 100%
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการหรือพนักงานขับรถฝ่าฝืนกระทำผิดกฎหมายหรือมีการกระทำผิดซ้ำซาก จะดำเนินมาตรการลงโทษขั้นสูงสุด หากพบว่าอาจเกิดอันตรายต่อผู้โดยสารจะสั่งพ่นห้ามใช้รถ หรือห้ามปฏิบัติหน้าที่ขับรถ ผู้ประกอบการขนส่งที่ไม่ควบคุมกำกับดูแลพนักงานขับรถให้ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัย จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง กรมการขนส่งทางบกจะลงโทษถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง