xs
xsm
sm
md
lg

ปรับแนวไฮสปีด กรุงเทพฯ-หัวหิน ช่วงเลี่ยงเมืองเพชรบุรี 18 กม.ลดผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.จัดเวทีรับฟังความเห็นปรับแนวเส้นทาง Hi-Speed สายใต้ กรุงเทพฯ-หัวหิน ช่วงเลี่ยงเมืองเพชรบุรี เพื่อลดปัญหาการใช้เขตทางหลวงประมาณ 18 กม. ชูขยายเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ ในปี 2572 คาดผู้ใช้บริการถึง 15.19 ล้านคน/ปี เสริมศักยภาพการท่องเที่ยวและลอจิสติกส์ของประเทศ

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดเพชรบุรี (งานแก้ไขแนวเส้นทางที่จังหวัดเพชรบุรี) โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน เพื่อนำเสนอรายละเอียดการออกแบบงานแก้ไขแนวเส้นทาง ตลอดจนมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน และสื่อมวลชนร่วมงานกว่า 200 คน

สำหรับโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน เป็นหนึ่งในเส้นทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบใหม่ของกระทรวงคมนาคม ที่ชี้นำการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคใต้ กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการ โดยจัดทำแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2556 และล่าสุดได้มีการปรับแนวเส้นทางใหม่ช่วงเลี่ยงเมืองเพชรบุรี เพื่อลดปัญหาการใช้เขตทางหลวง และเกิดผลกระทบต่อระดับการให้บริการของโครงข่ายทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวังถึงห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี เพชรบุรี ระยะทางประมาณ 4.5 กม.    

แนวเส้นทางใหม่จะใช้พื้นที่เขตทางรถไฟเดิมเป็นหลัก ยกเว้นบางช่วงจำเป็นต้องมีการปรับแนวเพื่อให้รถไฟสามารถทำความเร็วได้อย่างปลอดภัย โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการจากสถานีกลางบางซื่อ ใช้แนวเส้นทางของรถไฟสายใต้ผ่านสถานีนครปฐม สถานีราชบุรี แต่เมื่อเข้าสู่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรีแล้ว แนวเส้นทางจะเบี่ยงออกจากแนวเส้นทางรถไฟสายใต้ บริเวณตำบลบางจาก เข้าสู่สถานีเพชรบุรี ที่ตำบลธงชัย หลังจากนั้นได้มีการปรับแนวเส้นทางจากเดิมในช่วงบริเวณตำบลธงชัย (กม.150+000) ที่ใช้แนวเกาะกลางถนนเพชรเกษม ไปใช้พื้นที่ว่างด้านฝั่งตะวันตกของถนนเพชรเกษมแทน แล้วเข้าสู่แนวเส้นทางรถไฟสายใต้อีกครั้ง บริเวณสถานีหนองไม้เหลือง (กม.168-500) เป็นระยะทางที่ปรับแนวเส้นทางประมาณ 18 กม. จากนั้นมุ่งลงใต้สู่อำเภอชะอำ และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 209 กม.

นอกจากนี้ โครงการยังให้ความสำคัญต่อมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น การออกแบบให้มีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียและของเสียจากผู้โดยสาร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนน้ำเสียและของเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะแม่น้ำเพชรบุรี, การออกแบบโครงสร้างทางยกระดับให้มีความโปร่งบาง และลดการบดบังหรือคุณค่าของแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณสถานโดยรอบ, การจัดการจราจรในพื้นที่ช่วงที่มีการก่อสร้าง, การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ชดเชยให้ผู้เสียผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ในอนาคตจะมีการพัฒนาขยายแนวเส้นทางไปยังปาดังเบซาร์ ซึ่งหากโครงการพัฒนาแล้วเสร็จ ในปี 2572 คาดว่าน่าจะมีผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ ถึง 15.19 ล้านคน/ปี ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถถึง 18.223.11 ล้านบาท/ปี
 
นางวันเพ็ญ มังศรี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธาน กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของจังหวัดเพชรบุรีกำหนดไว้คือ “เมืองเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และเมืองน่าอยู่ น่ากิน น่าเที่ยวระดับประเทศ” และเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนแผนการพัฒนาจากภาครัฐ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ดังนั้น การสัมมนาในวันนี้จึงเป็นโอกาสที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับทราบข้อมูล และได้แสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะ เพื่อใช้ประกอบในผลการศึกษาให้โครงการเกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมได้อย่างสูงสุด   
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น