xs
xsm
sm
md
lg

มธบ.จับมือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดโครงการประชุมวิชาการ “การขยายศักยภาพของธุรกิจ Wellness Thailand 4.0”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดโครงการสัมมนาหัวข้อ “การขยายศักยภาพของธุรกิจ Wellness Thailand 4.0” ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาศักยภาพด้านการบริการและเกิดการขยายตัวขึ้นของอุตสาหกรรม Wellness ในประเทศไทย รวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งคุณภาพการบริการ เทคโนโลยีต่างๆ ให้สอดคล้องรับการเติบโตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของไทย

นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ในปี 2559 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้กว่า 2.51 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามสภาวการณ์โลกและพฤติกรรมของผู้บริโภค ประเทศไทยจึงหนีไม่พ้นต้องปรับตัวตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวของประเทศโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health & Wellness Tourism) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก และคาดกันว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นแบบทวีคูณ

นพ.บรรจบระบุว่า ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางสุขภาพ (Health Paradigm Shift) ปี พ.ศ. 2554 มีประชากรกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ จำนวนมหาศาลที่อยู่ในวัยชรา และในอีก 13 ปีข้างหน้าจะมีคนก้าวสู่อายุ 65 ปีทุกๆ วัน วันละ 10,000 คนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้คนอายุยืนขึ้น โดยกลุ่มคนเหล่านี้แม้มีฐานะดีแต่ยังติดนิสัยกินอยู่ตามสบาย ทั้งๆ ที่รู้แนวทางปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแต่ไม่อยากปฏิบัติเอง ต้องการได้รับบริการ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นับเป็นการเพิ่มอุปสงค์การจับจ่ายและเพิ่มโอกาสของสินค้าและบริการเชิงสุขภาพขึ้นอย่างโดดเด่น ทำให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ทางสุขภาพ กล่าวคือ แทนที่จะรอป่วยแล้วกินยา กลายมาเป็นกระบวนทัศน์ที่เรียกว่า “ความสุขสบายและชะลอวัย (Wellness & Anti-aging)” ซึ่งได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของ Wellness Industry ขึ้นอย่างกว้างขวาง

นพ.บรรจบกล่าวว่า แนวโน้มในการดูแลสุขภาพของมนุษย์โลกปรับเปลี่ยนไปจากอดีตที่นับวันรอความเจ็บป่วยไปสู่การดูแลสุขภาพร่างกายและชะลอวัยจนสามารถทำให้ตนเองมีชีวิตและความสุขที่ยืนยาวมากขึ้น ทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่าเมื่อเราสามารถกำหนดสุขภาพได้ด้วยตัวเอง และในปี พ.ศ. 2559 สภาการท่องเที่ยวโลก (WTTC) ประกาศให้ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ธุรกิจท่องเที่ยวขยายตัวเร็วที่สุดในโลก ทำรายได้ 82,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้ไทย หรือเท่ากับร้อยละ 20.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ สำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ยังเป็นตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 1 ใน 10 ประเทศของเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นแชมป์ในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) ไทยจึงมีโอกาสอันยอดเยี่ยมสำหรับการก้าวเป็นเมืองหลวงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก

คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการให้ข้อมูลว่า เมื่อมองไปที่ Wellness Industry จะเห็นมีแนวโน้มถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนและเต็มไปด้วยโอกาส ซึ่งตัวเลขเม็ดเงินในอุตสาหกรรมสุขภาพทั่วโลกนั้นสูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นภาคส่วนต่างๆ เช่น สุขภาพว่าด้วยความงามและการชะลอวัย 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การแพทย์ทางเลือก 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อาหารสุขภาพและการลดน้ำหนัก 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิตเนสและการบริหารกายและจิต 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

“Wellness Industry นั้นใหญ่มาก เมื่อคนทั่วโลกกำลังแสวงหาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นั่นหมายรวมถึงการต้อนรับและบริการต่างๆ การไหว้อย่างไทย รอยยิ้มอย่างไทย ดนตรีไทย การนวดไทยรวมถึงการนวดอื่นด้วยคนไทย และการใส่ใจทุกขั้นตอนของงานบริการอย่างไทยหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วในโลกนี้ วันนี้ประเทศไทยเรากำลังจะกลายเป็นเมืองหลวงของ Wellness”

นพ.บรรจบ เผยว่า ที่ผ่านมาหัวใจของการบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยคือ สปา (Spa) ที่มีธุรกิจสปากว่า 2,000 แห่ง มีผู้รับบริการเฉลี่ย 22.5 ล้านครั้ง/ปี ร้อยละ 90 เป็นชาวต่างชาติ ถ้ายกระดับคุณภาพจากสปาขึ้นเป็น Wellness ก็จะเพิ่มรายได้อีก 10 เท่าตัว ตัวอย่างเช่น บริการนวดในสปาราคา 1,200-2,500 บาท/คน ถ้าพัฒนาเป็นคอร์สสุขภาพ (Wellness) 1 วัน เริ่มจากการคำปรึกษา ทรีตเมนต์ความงาม การนวด การล้างพิษ บริหารกาย-จิต บริการเครื่องดื่มและอาหารสุขภาพ รายได้จะเพิ่มเป็น 12,000 บาท/คน หรือคิดเป็น 10 เท่าจากบริการนวดในสปาแบบเดิม อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการขายโปรแกรมที่จะต้องพำนักค้างคืนอย่างน้อย 2-3 วัน หรือสามารถพำนักได้นานกว่านั้นเพื่อปรับปรุงและแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

นพ.บรรจบกล่าวถึงการจัดโครงการประชุมวิชาการครั้งนี้ว่า โดยส่วนตัวมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะรวมภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาครัฐ มาร่วมกันสร้าง Business Model ของ Wellness Industry ประเทศไทยให้สอดคล้องกับนโยบาย “Thailand 4.0” เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เชื่อมโยงกับการพัฒนาสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้า การลงทุน พัฒนาสู่ชาติการค้า การพัฒนาผู้ประกอบการและเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ยกระดับผลิตภาพแรงงานและพัฒนา SMEs สู่สากล

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนรวมของ Wellness Industry เพื่อเป็นต้นแบบของประเทศ เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานของการประกอบธุรกิจการบริการสุขภาพ และการลงทุนที่โดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการกล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น