xs
xsm
sm
md
lg

ตอกเข็มเชื่อมทางด่วนขั้นที่ 2 กับศรีรัช-วงแหวนฯ คาดปี 61 จราจรแตะแสนคัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


BEM ตอกเข็มเชื่อมทางด่วนขั้นที่ 2 กับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ แล้ว “ประธานบอร์ด กทพ.” เจรจาเร่งก่อสร้างเสร็จใน ส.ค. 61 ตั้งเป้า ดันจราจรด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ เพิ่มจาก 5 หมื่นคัน/วัน เป็น 1 แสนคัน/วัน พร้อมสั่งออกแบบทางลง และยูเทิร์นบน ถ.กำแพงเพชร เชื่อมขึ้นด่านกำแพงเพชร 2

พลเอก วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงเสาเข็มโครงการก่อสร้างทางเชื่อมทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครไปยังทางพิเศษศรีรัช (มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ) ว่า จุดก่อสร้างอยู่บริเวณพื้นที่ใต้ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ด้านทิศเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน ซึ่งได้เจรจากับ BEM เร่งรัดให้ก่อสร้างเร็วขึ้นภายใน 9-10 เดือน หรืออย่างช้าภายใน 12 เดือน เพื่อเร่งเปิดใช้ทางในเดือน ส.ค. 2561 คาดว่าทางเชื่อมดังกล่าวจะทำให้ปริมาณจราจรบนโครงข่ายทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เพิ่มขึ้นจาก 6 หมื่นคันต่อวันในปัจจุบันเป็น 1 แสนคันต่อวัน

ทั้งนี้ ค่าก่อสร้างทางเชื่อมต่อประมาณ 275 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ BEM รับผิดชอบ 155 ล้านบาท ส่วนอีก 120 ล้านบาท ซึ่ง BEM จะลงทุนไปก่อนนั้น เป็นโครงสร้างรองรับทางเชื่อมจากทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ กับดอนเมืองโทลล์เวย์ ของกรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างพิจารณาผู้รับผิดชอบโครงการ ขณะที่ กทพ.ได้จ่ายค่ารอนสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ให้ ร.ฟ.ท.จำนวน 17 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างเสาคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 13 ต้น นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังขอให้ กทพ.ก่อสร้างทางขึ้นทางด่วนเชื่อมกับสถานีกลางบางซื่ออีกด้วย

และเพื่อให้โครงข่ายทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ และทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ ได้มอบหมายให้ กทพ.ศึกษาออกแบบเพื่อก่อสร้างทางลงจากแจ้งวัฒนะ ของด่วนขั้นที่ 2 ในทิศทางขาเข้าเป็นทางยกระดับ พร้อมสะพานกลับรถบนแนวถนนกำแพงเพชร เชื่อมเข้าสู่ด่านเก็บผ่านทางด่วนศรีรัช-วงแหวน บริเวณด่านกำแพงเพชร 2

สำหรับทางเชื่อมทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครไปยังทางพิเศษศรีรัช (มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ) มีรูปแบบโครงการเป็นทางเชื่อมยกระดับขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 360 เมตร โดยมีการเชื่อมต่อกันบนทางยกระดับ พื้นที่ประมาณ 3,150 ตารางเมตร ก่อสร้างเสาจำนวน 13 ต้น ส่วนโครงสร้างพื้นทางใช้คอนกรีต 12 ช่วง อยู่ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีจุดเริ่มต้นทางเชื่อมแยกออกจากทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง เชื่อมต่อเข้ากับทางพิเศษศรีรัชบริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ทางพิเศษที่มาจากทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ จะสามารถเข้าสู่ทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าไปยังถนนแจ้งวัฒนะได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาลงทางพิเศษตรงถนนกำแพงเพชรแล้วกลับขึ้นทางพิเศษใหม่อีกรอบ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นบริเวณดังกล่าว

เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางให้แก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงคมนาคม และ กทพ.ในการบริหารจัดการระบบทางพิเศษให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ทางและประชาชนในภาพรวม ซึ่งหลังจากที่ กทพ.และ BEM ได้เปิดให้บริการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองมากขึ้น หากแต่ยังมีบางทิศทางที่ผู้ใช้ทางพิเศษยังไม่สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้ นั่นก็คือการเชื่อมต่อการเดินทางจากทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ไปสู่ทิศทางด้านเหนือของกรุงเทพมหานครไปยังถนนงามวงศ์วาน แจ้งวัฒนะ หรือเชื่อมต่อทางพิเศษอุดรรัถยาเพื่อมุ่งหน้าไปบางไทร บางปะอิน
กำลังโหลดความคิดเห็น