ไออาร์พีซีเปิดช่องพันธมิตรต่างชาติถือหุ้นเพิ่มบริษัทลูกเพื่อหวังนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและทำตลาดสู่ภูมิภาค ส่วนแผนขายที่ดินรวม 4 พันไร่ที่บ้านค่าย จ.ระยอง และจะนะ จ.สงขลาชะลอไปก่อน รอโครงการภาครัฐกระตุ้นการขาย
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานใน 2 บริษัทร่วมทุน คือ บริษัท IRPC A&L ซึ่งดำเนินการผลิตเม็ดพลาสติก ABS เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และบริษัท IRPC Polyol ผู้ผลิตโพลียูริเทน เพื่อเพิ่มการผลิตเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปีข้างหน้า หลังจากปัจจุบันการผลิตโพลียูริเทนยังทำได้เพียง 50% ของกำลังการผลิตเท่านั้น ส่วนการผลิตเม็ดพลาสติก ABS สำหรับรถยนต์ก็มีแผนที่จะขยายตลาดเข้าไปในอาเซียนที่มีการเติบโต จากปัจจุบันที่มีเพียงการขายภายในประเทศเท่านั้น
โดยบริษัทได้ดึงพันธมิตรร่วมทุน คือ บริษัท PCC Rokita SA (Poland) จากโปแลนด์ เข้ามาถือหุ้นในบริษัท IRPC Polyol สัดส่วน 25% เมื่อปลายปีที่แล้วนั้น และมีแผนที่จะให้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 50% ในอนาคต หลังจากได้ร่วมกันทำตลาดระยะหนึ่งก่อน ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งของบริษัทร่วมทุนนี้เพื่อทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 เท่า จากปัจจุบันที่มีการผลิตอยู่ในระดับ 50% ของกำลังการผลิต 2.5 หมื่นตัน/ปี ที่ผ่านมาธุรกิจโพลีออลจะไม่ค่อยสร้างกำไรได้มากนัก เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบโพลีออกไซด์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต
“ตอนนี้เริ่มดีขึ้นเพราะเขาเอาสูตรใหม่มาให้เราผลิตแล้วขาย เรามีโรงงานแต่ที่ผ่านมาไม่มีกำไรเพราะขาดเทคโนโลยี ก็ต้องดึง partner เข้ามาผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกให้ครอบคลุมอาเซียน คงต้องทำตลาดร่วมกันระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยให้เขาเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 50%” นายสุกฤตย์กล่าว
ส่วนบริษัท IRPC A&L นั้นบริษัทถือหุ้นอยู่ 60% ร่วมกับ Nippon A&L (NAL) จากญี่ปุ่น 37% และ Sumithai อีก 3% โดยบริษัทร่วมทุนนี้ก็มีแผนที่จะขยายตลาดออกไปในอาเซียนที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเติบโตมาก จากเดิมที่มีการขายเฉพาะในประเทศเท่านั้น ซึ่งแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ Nippon นำสูตรการผลิตมาให้โรงงานในไทยผลิตแล้วขายในอาเซียน ก็มีแผนที่จะเพิ่มยอดขายเป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตจาก 2 หมื่นตัน/ปี เป็น 4 หมื่นตัน/ปีภายใน 5 ปีข้างหน้า
นายสุกฤตย์กล่าวถึงแผนการขายที่ดินที่มีอยู่ราว 4 พันไร่ที่บ้านค่ายจังหวัดระยอง และจะนะ จังหวัดสงขลาว่ายังไม่มีความคืบหน้ามากนัก โดยพื้นที่ใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่มี 2 พันไร่นั้นได้เคยประกาศขายพื้นที่ไปแล้วแต่ปรากฏว่าได้รับความสนใจน้อย แม้ว่าจะมีการประกาศเป็นจังหวัดเป้าหมายแผนพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แต่ก็อยู่ห่างออกไป จึงยังตัดสินใจชะลอไปก่อน ส่วนพื้นที่กว่า 2 พันไร่ในจะนะ จ.สงขลานั้นอยู่ใกล้กับพื้นที่การก่อสร้างท่าเรือสงขลา 2 ซึ่งคงต้องรอดูการพัฒนาของภาครัฐก่อนเพื่อที่จะบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวอย่างไรต่อไป
ปัจจุบันบริษัทยังคงมีฐานะทางการเงินที่ดี โดยปีนี้มีภาระหนี้ที่จะคืนจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทนั้นก็มีแผนรองรับแล้ว ส่วนในปีหน้ามีภาระหนี้ต้องคืนอีก 1 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร อาจจะเป็นการออกหุ้นกู้ หรือการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ขึ้นอยู่กับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก โดยบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.84 เท่า