พพ.กาง 5 โครงการหลักสนองนโยบายประชารัฐ สร้างโมเดลพลังงานทดแทนชุมชน นำทรัพยากรท้องถิ่นปรับใช้สร้างผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน ลดค่าครองชีพจากพลังงาน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งปั๊มน้ำโซลาร์โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน หมู่บ้านอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของโลก ก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 จังหวัดใต้
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ดำเนินโครงการตามนโยบายประชารัฐด้วยการพัฒนาต้นแบบพลังงานชุมชนในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน พร้อมการสนับสนุนทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับชุมชน และให้ชุมชนร่วมคิดร่วมทำและร่วมเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่ง พพ.ได้ดำเนินงาน 5 โครงการที่สำคัญเพื่อมุ่งลดรายจ่ายด้านพลังงาน และเพิ่มรายได้ให้ชุมชนสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
“โครงการประชารัฐเป็นการรวมพลังของภาคประชาชน รัฐ และภาคธุรกิจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งในส่วนของ พพ.ในฐานะกำกับดูแลพลังงานทดแทนได้มีการส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาต้นแบบพลังงานชุมชนขึ้น ซึ่งเน้นพลังงานทดแทนที่เป็นการนำทรัพยากรท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่เพียงแต่จะลดต้นทุนให้ชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการลดนำเข้าพลังงานเกิดการใช้พลังงานอย่างมั่นคงยิ่งขึ้น” นายประพนธ์กล่าว
สำหรับ 5 โครงการที่สำคัญ ได้แก่ 1. ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยภัยแล้ง จ.เพชรบุรี (โซลาร์ปั๊ม) โดย พพ.ได้เริ่มดำเนินการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ชุมชนต้นแบบอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี พัฒนาระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำผิวดิน และแบบบ่อลึกหรือแหล่งน้ำบาดาลมาเก็บไว้ในถังเก็บน้ำของชุมชนสำหรับใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร นอกจากนี้ ยังได้นำร่องโครงการต้นแบบด้วยการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานอีก 6 แห่ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ และวางแผนจะขยายโครงการไปยังพื้นที่ประสบภัยแล้งอื่นทั่วประเทศในปี 2559
2. โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน บ้านสองแควพัฒนา ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นการพัฒนาพลังงานทดแทนเข้าสู่พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นภูเขาและผืนป่า ให้มีพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าใช้สำหรับคนในพื้นที่ที่มีชนเผ่าอาศัยอยู่หลากหลาย 3. บางกระทุ่มโมเดล พพ.ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดทำโครงการพัฒนาระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกหรือพาราโบลาโดม ให้กับชุมชนกล้วยตาก อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ซึ่งเดิมชาวบ้านอบด้วยการวางบนไม้ไผ่ตากไว้กลางแจ้งซึ่งหน้าฝนมักเสียหาย โดยมีการจัดสร้างระบบอบแห้งแก้ไขปัญหาจำนวน 30 ระบบให้กับชุมชนโดยชุมชนออกค่าใช้จ่ายเป็นหลัก ทำให้เกิดหมู่บ้านอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของโลก ทำให้สินค้ากล้วยตาก และอื่นๆ ที่มีการอบแห้งเป็นที่รู้จักนำมาซึ่งรายได้ที่ดีให้แก่ชุมชน
4. ก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ สู่พลังงานครัวเรือน จ.ลำปาง พพ.ได้เข้าไปส่งเสริมให้เกิดการติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์จากมูลช้าง โดยการนำมูลช้างและน้ำมาผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่บ่อเติมมูลแล้วปล่อยลงสู่บ่อหมักเพื่อให้เกิดการย่อยสลายโดยแบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจน และได้ก๊าซชีวภาพ องค์ประกอบหลักเป็นก๊าซมีเทน นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มอาหารและเดินเครื่องยนต์สูบน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนมูลที่ถูกย่อยสลายแล้วจะไหลลงสู่บ่อมูลล้น เข้าลานตากมูลเพื่อนำไปทำปุ๋ยบำรุงดิน หรืออัดเป็นแท่งเพาะชำต่อไป
5. โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นการดำเนินการเพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้อย่างยั่งยืน รองรับการจัดตั้ง “โครงการพาคนกลับบ้าน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และโครงการรองรับมวลชน หมู่บ้านสันติสุข” แก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งกำหนดแผนผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลขนาดเล็กไว้ 3 แห่ง ในพื้นที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 18 เมกะวัตต์ และจะจ่ายไฟเข้าระบบจำหน่ายของ กฟภ. รวม 12 เมกะวัตต์ โดยให้ใช้เชื้อเพลิงเศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลัก ส่วนแผนผลิตไฟฟ้าจากชีวภาพกำหนด 30 แห่ง ในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา กำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ ใช้หญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยทั้ง 2 แผนงานนี้ทุกปีจะมีจัดสรร 10% ของกำไรสุทธิกลับคืนให้แก่ชุมชนในพื้นที่