xs
xsm
sm
md
lg

เคาะแบบสถานีตากสิน! ขยายทางวิ่งเสร็จ ธ.ค. 62 บีทีเอสวิ่งฉลุยเชื่อมฝั่งธนฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม-กทม.-บีทีเอส” เคาะแบบขยายสถานีรถไฟฟ้าตากสิน (S6) และเพิ่มทางวิ่งบีทีเอส ค่าก่อสร้าง 1,000 ล้าน ยันสะพานสาทรมี 3 ช่องตลอดเวลาไม่กระทบจราจรและความมั่นคงแข็งแรง ก่อสร้าง 27 เดือน เสร็จ ธ.ค. 62 รถไฟฟ้าบีทีเอสวิ่งฉลุยไม่ต้องรอหลีก ด้านบีทีเอสเผยปัจจุบันผู้โดยสารรวม 8 แสนคน/วัน สายสีลมวิ่ง 4 นาที/ขบวน เหตุต้องรอหลีกทำให้สถานีสยามแออัด



นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ถึงแผนการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าสถานีสะพานตากสิน (S6) ว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาคอขวดของสถานีตากสิน ซึ่งปัจจุบันเป็นทางวิ่งเดียว รถไฟฟ้าต้องรอหลีก การบริการไม่สะดวก โดย ทช. กทม. บีทีเอส ได้สรุปแบบที่สอดคล้องกับด้านวิศวกรรมในเรื่องความแข็งแรงและปลอดภัย และไม่กระทบต่อการจราจร โดยจะขยายปีกตัวสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน(สะพานสาทร) ทั้งสองด้าน (ขาเข้าและขาออก) ออกไปฝั่งละ 1.80 เมตร เพื่อคงผิวจราจรฝั่งละ 3 ช่องจราจรไว้เท่าเดิม เป็นระยะทาง 230 เมตร สะพานจะเบี่ยงออกมานิดหน่อย ไม่กระทบต่อด้านความปลอดภัย และเมื่อขยายสะพานแล้วเสร็จจึงจะดำเนินการขยายตัวสถานีตากสินและวางรางเพิ่มอีก 1 ราง ทำให้สถานีตากสินรถไฟฟ้าจะวิ่งสวนทางกันได้ไม่ต้องรอหลีก

ทั้งนี้ ในการออกแบบรายละเอียด จะมีคณะกรรมการร่วมระหว่าง คมนาคม ทช. กทม. บีทีเอส และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) กำกับการดำเนินการ ซึ่งในการดำเนินการก่อสร้างจะใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น 27 เดือน นับจากเดือน ก.ย. 2560 โดยจะเป็นการออกแบบประมาณ 5 เดือน และจะแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้า 2 ทางวิ่งได้ในเดือน ธ.ค. 2562 ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้ค่าก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการขยายสะพาน 300 ล้านบาท การขยายตัวสถานีประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งทาง กทม.จะรับไปพิจารณา และแม้ว่าจะเป็นการขยายสะพานที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ กทม.จะหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในการขยายสะพานเพื่อความรอบคอบ

“สถานีตากสินสำคัญมากเพราะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางทางเรือ รถ ราง ซึ่งสถานีมีปัญหาคอขวดเพราะมีทางเดี่ยว ขณะที่การปรับปรุงสถานีตากสินจะกระทบสะพานสาทร และการให้บริการรถไฟฟ้า ทุกอย่างจะเหมือนเดิม ทั้งนี้ได้มอบให้กรมเจ้าท่า (จท.) พิจารณาในการปรับปรุงอาคารท่าเรือเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าได้สะดวก ซึ่งอนาคตด้านติดถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นพื้นที่ของ ทช.จะปรับปรุงเป็นมอลล์เล็กๆ ให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น” นายอาคมกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทช.ได้ให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงแข็งแรงและการจราจรอย่างมาก ดังนั้นจึงใช้เวลานานในการพิจารณาสรุปแบบ โดยจะต้องขยายตัวสะพานเสร็จก่อน และระหว่างดำเนินการ ผิวจราจรจะยังคงที่ 3 ช่องเท่าเดิมตลอดเวลา จากนั้นค่อยขยายตัวสถานี S6 เพื่อวางรางเพิ่มอีก 1 ราง

ด้านนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ทช.กังวลเรื่องความมั่นคงแข็งแรงของสะพานที่มีปริมาณจราจรสูงมาก และการจราจรติดขัด หากมีอะไรกระทบตัวสะพานจะยิ่งทำให้ติดขัดมากขึ้น ซึ่งในด้านวิศวกรรมได้หารือกับ กทม. และบีทีเอส ได้ข้อยุติเชิงวิศวกรรม และการจราจรได้ข้อยุติในเรื่องรูปแบบ โดยขยายช่องจราจรออกไปอีกด้านละ 1.80 เมตร ยาว 230 กม. เป็นไปได้และไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของสะพาน

นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สถานี S6 เป็นหัวใจสำคัญของ กทม.ในระบบการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถ เรือ ราง ซึ่งได้หารือในเรื่องการปรับปรุงท่าเทียบเรือสาทรด้วย กทม.จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกันทั้งหมด ซึ่งจะมีคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาด้านการท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวกที่จะต้องดูแลเพิ่มเติม รวมถึงการแก้ปัญหาหาบเร่ แผงลอย คนจรจัด หรือสภาพเสื่อมโทรมด้านล่างทั้งหมด เป็นโอกาสดีที่จะร่วมมือปรับปรุง พื้นที่นี้เป็นแลนด์มาร์กของ กทม. เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงด้านฝั่งธนบุรี และพระนครให้เกิดการสมดุลของเมือง

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส กล่าวว่า เป็นการแก้ปัญหาคอขวด สถานี S6 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินรถไฟฟ้าทั้งระบบที่ต้องรอสับหลีก ทำให้สายสีลม รถจะวิ่งความถี่ 4 นาที/ขบวน ขณะที่สายสุขุมวิทในชั่วโมงเร่งด่วนจะวิ่งที่ความถี่ 3 นาที/ขบวน ดังนั้น สายสีลมรถไม่เพียงพอแล้วยังทำให้กระทบต่อการเดินรถของสายสุขุมวิทอีกด้วย เนื่องจากสายสุขุมวิทเมื่อวิ่งได้ถี่กว่าจะส่งผู้โดยสารมาสะสมที่สถานีสยามมาก ดังนั้นเมื่อขยายสถานี S6 และทางวิ่งแล้วจะทำให้สามารถบริหารการเดินรถได้สอดคล้องกัน และแก้ไขปัญหาความแออัด ปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสมีผู้โดยสารประมาณ 8 แสนคน/วัน





กำลังโหลดความคิดเห็น