หอการค้าไทยออกโรงเตือนนายจ้าง ต้องขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวภายในวันที่ 7 ส.ค.นี้เท่านั้น หากพ้นระยะเวลานี้ไปแล้วรัฐดำเนินการตามกฎหมายจะมาร้องให้ช่วยอีกไม่ได้ เผยน่าห่วงแรงงานที่ทำงานตามบ้าน ร้านค้า แผงลอย ยังมาขึ้นทะเบียนน้อยมาก ทั้งๆ ที่ต้องขึ้นทะเบียนด้วย ส่วนยอดขึ้นทะเบียนล่าสุดมี 3.96 แสนคน กัมพูชานำโด่ง ตามด้วย สปป.ลาว และพม่า
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยขอเตือนนายจ้างหรือผู้ที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หรือมีเอกสารอนุญาตทำงานไม่ถูกต้อง ให้รีบดำเนินการพาลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวจากทั้งกัมพูชา พม่า และ สปป.ลาว มาขึ้นทะเบียนตามศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวให้เสร็จภายในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เพราะหากไม่มาขึ้นทะเบียน และรัฐบาลดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ภาคเอกชนคงไม่มีอะไรมาช่วยเรียกร้องได้อีกแล้ว
“ภาคเอกชนยืนยันที่จะสนับสนุนการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของรัฐบาล เพื่อสร้างความมั่นคง ปลอดภัยและมีเสถียรภาพ เพราะถ้าไม่ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวก็จะไม่รู้ว่ามีแรงงานต่างด้าวที่แท้จริงในประเทศไทยกี่คน อยู่ที่ไหนกันบ้าง แต่ถ้ามีการขึ้นทะเบียนทั้งหมด จะทำให้ในปี 2561 รายงานประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยจะดีขึ้น” นายพจน์กล่าว
ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวปัจจุบันมีจุดที่น่ากังวลอยู่ คือ การขึ้นทะเบียนของแรงงานต่างด้าวกลุ่มการให้บริการต่างๆ เช่น แรงงานที่ทำงานตามบ้าน กลุ่มลูกจ้างตามร้านค้า แผงลอย ที่ยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับความเป็นจริงทั่วไปที่เห็นกันอยู่ ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าลูกจ้างกลุ่มนี้ต้องมาขึ้นทะเบียนด้วย
ส่วนเรื่องของระยะเวลาที่เปิดให้ยื่นคำขอลงทะเบียน เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ขยายเวลาเพิ่มให้อีก เพราะเวลาที่ให้มาถือว่าเพียงพอสำหรับนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าวรายเก่าแล้ว เพราะหากขยายเวลาให้มากกว่านี้อาจเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำแรงงานต่างด้าวคนใหม่ๆ เข้ามา
นายสมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หลังจากกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ กระทรวงแรงงานได้เปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มี 11 ศูนย์ มีผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.-3 ส.ค. มีนายจ้างมายื่นคำขอแล้ว 1.13 แสนราย เป็นลูกจ้างต่างด้าว 3.96 แสนคน แยกเป็นกัมพูชา 1.07 แสนคน สปป.ลาว 5.41 หมื่นคน และพม่า 2.34 แสนคน
โดยประเภทกิจการที่มีการยื่นคำขอสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เกษตรและปศุสัตว์ 9.15 หมื่นคน รองลงมาคือ กิจการก่อสร้าง 7.79 หมื่นคน จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 3.66 หมื่นคน การให้บริการต่างๆ 2.89 หมื่นคน และกิจการต่อเนื่องจากเกษตร 2.52 หมื่นคน และจังหวัดที่มีมาแจ้งมากที่สุด 5 อันดับ คือ กรุงเทพฯ 8.49 หมื่นคน รองลงมาคือ สมุทรปราการ 2.29 หมื่นคน ระยอง 1.98 หมื่นคน ปทุมธานี 1.95 หมื่นคน และเชียงใหม่ 1.63 หมื่นคน