กรมทางหลวงประเมินเบื้องต้นถนนเสียหายจากพายุเซินกาต้องซ่อมบำรุงกว่า 2.12 พันล้าน ขณะที่ล่าสุดถนนถูกน้ำท่วมใน 9 จังหวัด จำนวน 18 แห่ง โดยยังสัญจรไม่ได้ 9 แห่ง
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความเสียหายของทางหลวงจากอิทธิพลของพายุเซินกา พื้นที่จังหวัดสกลนครว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับถนนของกรมทางหลวงจากพายุเซินกา ล่าสุดได้สรุปความเสียหายไว้ 4 ประเภท คือ 1. สะพานขาด/สะพานชำรุด (รวมถึงคอสะพานชำรุด/ตอม่อทรุด) 9 แผนงาน ใช้วงเงิน 104,999,000 บาท 2. ดินสไลด์/คันทางสไลด์ 22 แผนงาน ใช้วงเงิน 265,085,000 บาท 3. อาคารระบายน้ำชำรุดเสียหาย (ท่อ, BOX Culvert) 72 แผนงาน ใช้วงเงิน 844,295,000 บาท 4. โครงสร้างถนนชำรุด 57 แผนงาน ใช้วงเงิน 913,699,000 บาท รวมทั้งสิ้น 160 แผนงาน งบประมาณ 2, 128,078,000 บาท ซึ่งจะมีการประเมินเพิ่มเติมอีกเนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยยังไม่ยุติ
โดยได้แบ่งออกเป็นแผนระยะสั้น ได้แก่ ลักษณะงานแก้ไขน้ำท่วมในระยะสั้น งานซ่อมแซมเพื่อให้จราจรผ่านได้ ในเบื้องต้นหลังเกิดน้ำท่วมจัดหาทางเลี่ยง ทางลัดทำทางเบี่ยง หรือทอดสะพานเบลีย์ และงานระยะกลาง ได้แก่ งานที่บูรณะฟื้นฟูให้คืนสู่สภาพเดิม พร้อมทั้งทำการป้องกันโครงสร้างส่วนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายลักษณะเดิมอีกในอนาคต
ทั้งนี้ หลังจากที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ได้สั่งการให้สำนักงานทางหลวงที่ 3 (สกลนคร) แขวงทางหลวงสกลนครที่ 1, แขวงทางหลวงนครพนม และแขวงทางหลวงบึงกาฬ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเบื้องต้นโดยด่วนก่อน เช่น ขนย้ายสิ่งของ ช่วยเหลือในการแจกน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคแก่ประชาชน เส้นทางที่ถูกน้ำตัดขาดได้สั่งการให้ทอดสะพานเบลีย์เพื่อให้รถสามารถสัญจรได้โดยทันที ได้แก่ บริเวณสะพานขาดที่บ้านห้วยทราย อ.เมือง จ.สกลนคร ถนนสกลนคร-อุดรธานี และบริเวณทางหลวงหมายเลข 223 สกลนคร-นาแก สะพานห้วยตารอด กม.18
โดยหลังจากน้ำลดกรมทางหลวงได้ระดมเจ้าหน้าที่รถบรรทุกน้ำทำความสะอาดบริเวณสี่แยกบ้านธาตุ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รวมทั้งนำรถบรรทุกลำเลียงประชาชนและขนย้ายยานพาหนะในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ทำความสะอาดโรงเรียนเมืองสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร หลังน้ำลด ทำความสะอาดสำนักงานขนส่งจังหวัดสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย
รวมถึงภารกิจตามบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในการให้กรมทางหลวงนำเครื่องจักรพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการเร่งระบายน้ำออกจากท่าอากาศยานให้สามารถเปิดบริการเที่ยวบินได้ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 โดยใช้รถแบ็กโฮจำนวน 5 คันขุดด้านหัวท่าอากาศยานซึ่งมีพื้นที่สูงให้เป็นรางระบายน้ำขนาด 3 เมตร ให้ลึกมากที่สุด พอน้ำลดระดับขุดให้ลึกเพิ่มอีกเพื่อให้น้ำระบายออกสู่หนองหารได้เร็วขึ้น
ใช้หน่วย Falling Weight Deflectometer (FWD) จากสำนักวิเคราะห์และตรวจสอบ กรมทางหลวง เข้าทดสอบพื้นรันเวย์สนามบิน เพื่อทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างทางด้วยน้ำหนักตกกระแทกแล้วตรวจวัดการแอ่นตัวของผิวทาง ในการทดสอบนี้ใช้แรงกระทำเทียบเท่าแรงดันล้อเครื่องบินที่ใช้งานสนามบิน ทดสอบทุกระยะ 50 เมตร ตามแนว center line และห่างออกมาข้างละ 3 เมตร และ 6 เมตร ซ้ายและขวา ผลการทดสอบค่าการแอ่นตัวของผิวทางเมื่อรับน้ำหนักตกกระแทกแสดงว่าทางวิ่งและทางขับของสนามบินสกลนครมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับการขึ้นลงของเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย
ระดมชุดล้างทำความสะอาด โดยใช้รถน้ำจำนวน 15 คัน แรงงานประมาณ 60 คน เข้าทำความสะอาดรันเวย์ รวมถึงนำเครื่องจักรเร่งปฏิบัติการซ่อมแซมถนนทางเข้าท่าอากาศยานสกลนคร
และในการดำเนินงานครั้งนี้กรมทางหลวงได้ระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักร ประกอบด้วย รถบรรทุกน้ำ รถเครน รถแบ็กโฮ รถปูยาง รถบรรทุกสิบล้อ รถปิกอัพ จากแขวงทางหลวงใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมทั้งสิ้น 37 คัน เจ้าหน้าที่ 134 คน โดยหลังจากนี้จะประเมินผลความเสียหายของถนนตั้งแผนและซ่อมแซมต่อไป สำหรับในพื้นที่อื่นที่คาดว่าจะได้รับมวลน้ำจากจังหวัดสกลนคร เช่น จังหวัดนครพนม จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา
โดยล่าสุดถึงวันที่ 1 ส.ค.มีเส้นทางสายหลักของ ทล.ที่ยังถูกน้ำท่วมในพื้นที่ 9 จังหวัด จำนวน 13 สายทางในพื้นที่ 18 แห่ง โดยการจราจรสามารถผ่านได้ 9 แห่ง การจราจรยังผ่านไม่ได้ 9 แห่ง ดังนี้
1. จังหวัดกาฬสินธุ์
- ทางหลวงหมายเลข 12 สี่แยกสมเด็จ-คำพอก ในพื้นที่ อ.ห้วยผึ้ง ช่วง กม.ที่ 696-698 ทางเบี่ยงขาด อยู่ระหว่างทอดสะพานเบลีย์ คาดว่าแล้วเสร็จเวลาประมาณ 16.00 น.
2. จังหวัดสกลนคร
- ทางหลวงหมายเลข 2346 ดอนเชียงบาน-นาหว้า ในพื้นที่ อ.กุสุมาลย์ ช่วง กม.ที่ 15-18 ระดับน้ำสูง 50 ซม. (เส้นทางเลี่ยงเมื่อถึง กม.15+300 ทางหลวงหมายเลข 2346 ให้เลี้ยวขวาเข้าบ้านแสนพัน ผ่าน อบต.อุ่มจาน ออกบ้านหนองปลาตอง ไปบรรจบทางหลวงหมายเลข 2132 ท่าแร่-นาเพียง เข้าสู่ตัวเมืองสกลนคร
- ทางหลวงหมายเลข 2307 วานรนิวาส-อากาศอำนวย ในพื้นที่ อ.อากาศอำนวย ช่วง กม.ที่ 17 ระดับน้ำสูง 80 ซม. ใช้เส้นทางเลี่ยง จ.สกลนครไปอำเภอศรีสงคราม (ทล.2132) และมุ่งหน้าไปยังอำเภออากาศอำนวย (ทล.2177)
- ทางหลวงหมายเลข 2307 วานรนิวาส-อากาศอำนวย ในพื้นที่ อ.อากาศอำนวย ช่วง กม.ที่ 24 คอสะพานขาด ใช้เส้นทางเลี่ยง จ.สกลนครไปอำเภอศรีสงคราม (ทล.2132) และมุ่งหน้าไปยังอำเภออากาศอำนวย (ทล.2177)
- ทางหลวงหมายเลข 2355 สูงเนิน-สี่แยกในพื้นที่ อ.อากาศอำนวย ช่วง กม.ที่ 0-6 ระดับน้ำสูง 100 ซม. ใช้เส้นทางเลี่ยง จ.สกลนครไปอำเภอศรีสงคราม (ทล.2132) และมุ่งหน้าไปยัง อ.อากาศอำนวย (ทล.2177)
- ทางหลวงหมายเลข 2308 สูงเนิน-สี่แยก ในพื้นที่ อ.สูงเนิน ช่วง กม.ที่ 12-18 ระดับน้ำสูง 40-80 ซม. ใช้เส้นทางเลี่ยง จ.สกลนคร ไป อ.ศรีสงคราม (ทล.2132) และมุ่งหน้าไปยัง อ.อากาศอำนวย (ทล.2177)
- ทางหลวงหมายเลข 2308 บ้านขาม-บ้านเซือม ในพื้นที่ อ.วานรนิวาส ช่วง กม.ที่ 4-5 ระดับน้ำสูง 40-60 ซม. ใช้เส้นทางเลี่ยง จ.สกลนคร ไป อ.ศรีสงคราม (ทล.2132) และมุ่งหน้าไปยัง อ.อากาศอำนวย (ทล.2177)
- ทางหลวงหมายเลข 2094 ผาอินทร์-ท่าก้อน ในพื้นที่ อ.อากาศอำนวย ช่วง กม.ที่ 36-39 ระดับน้ำสูง 30-40 ซม. การจราจรผ่านได้แต่ไม่สะดวก
3. นครพนม
- ทางหลวงหมายเลข 2033 นาแก-นาเหนือ ในพื้นที่ อ.นาแก ช่วง กม.ที่ 0-2 คอสะพานขาด ใช้เส้นทางผ่าน อ.นาแก (ทล.2425) มุ่งสู่ อ.ธาตุพนม (ทล.212) เข้าสู่ อ.เรณูนคร (ทล.2031) ไป อ.ปลาปาก (อยู่ระหว่างทอดสะพานเบลีย์ คาดว่าแล้วเสร็จ วันที่ 2 ส.ค. 60 เวลา 14.00 น. อยู่ระหว่างประสานศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) เพื่อทอดสะพานเบลีย์
อย่างไรก็ตาม ยังเกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ สถานการณ์ยังคงต้องเฝ้าระวังตลอดเวลา ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของกรมทางหลวง ประกอบด้วย สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง และหมวดทางหลวงในพื้นที่ เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นตลอด 24 ชม. โดยภารกิจหลักตอนนี้คือช่วยให้การจราจรผ่านได้ก่อน หลังจากเมื่อน้ำลดจะทำการสำรวจความเสียหายเพื่อซ่อมแซมสู่ความยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการสอบถามสภาพเส้นทางการจราจรบนถนนทางหลวงในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย ต้องการความช่วยเหลือ หรือพบเหตุบนทางหลวง เช่น ต้นไม้ล้ม ทางขาด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนกรมทางหลวง 1586 ทุกวัน ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง